ReadyPlanet.com


ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ได้หรือไม่


ดิฉันรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่ง เขาบอกว่าเลิกกับเมียแล้ว เมื่อสอบถามถึงเมียเก่าทีไรก็บ่ายเบี่ยงไม่ค่อยตอบโดยอ้างว่าเรื่องมันผ่านมาแล้วจะรู้ไปทำไป  เขาเคยพาดิฉันไปที่บ้านแม่ของเขาเป็นครั้งคราว อีกทั้งพาไปรู้จักเพื่อนของเขามากมาย จนดิฉันเชื่อสนิทว่าเขาเลิกกับเมียแล้ว แต่เขาไม่ค่อยได้ค้างที่คอนโดของดิฉันเท่าไร เพราะอ้างว่าต้องตื่นแต่เช้าไปส่งหลาน ไม่สะดวก ดิฉันถามมากๆ ก็ว่าจะรู้ไปทำไม ต่อมาดิฉันท้อง เขากลับทำตัวห่างเหินไป และสอบถามเพื่อนเขาบอกว่าเขาพูดกับเพื่อนว่าลูกในท้องดิฉันจะใช่ลูกเขาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำให้ดิฉันเสียใจมาก ปัจจุบันลูกอายุได้ 1 ขวบครึ่งแล้ว

ขอถามว่าดิฉันจะฟ้องให้เขาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร และใช้เวลานานเท่าไร



ผู้ตั้งกระทู้ ขวัญนภา :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-01 15:27:02


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615365)

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

กฎหมายบอกว่า ให้บิดามารดก มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ตามสมควร ขอเน้นว่าเป็นบุตรผู้เยาว์นะครับ ผู้เยาว์ก็คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะครับอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ และคำว่าตามสมควรก็คือตามฐานานุรูปของผู้ให้ หมายความว่า ผู้ให้มีรายได้รายรับอย่างไรก็เป็นไปตามมีตามควร กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้บิดามารดาต้องดูแลบุตรผู้เยาว์ตามฐานะไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินจนต้องเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความสมัครใจก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้นะครับ

หน้าที่ที่กฎหมายกำหนดข้างต้นเป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นนะครับ ตามปัญหาของคุณแสดงว่าคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันดังนั้นคุณไม่ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายดังนั้น

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

บุตรที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณเพียงผู้เดียว ส่วนบิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาจึงเป็นบิดานอกกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่ ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

แล้วทำอย่างไรถึงจะให้บิดามารับผิดชอบค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้????

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบ ด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จด ทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้น และในกรณีของคุณพ่อเด็กคงไม่ยินยอมมาจดทะเบียนกับคุณแน่ ประเด็นต่อมาคือแล้วเขาจะไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแต่โดยดีหรือไม่ ตามปัญหาบอกว่าเขาห่างเหินคุณไปโดยยังพูดกับเพื่อนๆ ของเขาอีกว่าเด็กในท้องไม่ใช่ลูกของเขา ดังนี้เห็นว่าเขาคงไม่ไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแน่ ทางออกก็คือไปฟ้องให้ศาลมีคำสั่งให้รับเด็กเป็นบุตร

มาตรา 1555   ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

จากข้อกฎหมายข้างต้นเมื่อพิจารณากรณีของคุณแล้วใน (3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

ในกรณีที่มีเอกสารใดๆ ระบุว่าบิดาคือชายผู้มีความสัมพันธ์กับคุณและที่คุณอ้างว่าเป็นบิดาของเด็ก

ประการต่อมาคือ (4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

ในกรณีที่บิดาไปแจ้งเกิดด้วยตัวเองก็จะปรากฎชื่อของบิดาในสูติบัตร ก็จะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมาย หากบิดาไม่ยอมรับก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ต่อศาลว่าเป็นเพราะเหตุใด

ประการต่อมาก็คือในกรณีที่ชายนั้นไปมาหาสู่และแสดงโดยเปิดเผยให้ทางบ้านเขารู้จักคุณรวมตลอดถึงเพื่อนๆ ของเขานั้นและแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสัมพันธ์พิเศษต่อกันก็เข้าข้อสันนิษฐานตาม (6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

ประการสุดท้ายก็คือ เมื่อคุณคลอดแล้วชายนั้นได้มาแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปหรือไม่ว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของเขาตาม (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

เมื่อเห็นว่าเข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าวคุณก็สามารถฟ้องต่อศาลให้เขารับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และในเวลาเดียวกันก็ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไปในคราวเดียวกันเลยครับ

ในกรณีที่ศาลจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษานั้นต้องดูกำลังรายรับรายได้ของบิดาด้วยหากว่าเขาอยู่ในสภาพตกงานอยู่และไม่มีรายได้อื่นใด ศาลก็จะพิจารณาฐานะของผู้ให้ด้วยเหมือนกัน ศาลคงไม่บีบบังคับให้ต้องกู้หนี้ยืมสินดังที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ

ขอให้คุณโชคดีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 085-9604258 วันที่ตอบ 2008-05-02 09:35:22


ความคิดเห็นที่ 2 (1615366)

สำหรับคำถามเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นกรุณาติดมาที่โทร 085-960-4258 และเรื่องเวลานั้นก็ไม่น้อยกว่าสามเดือนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-03 21:35:12


ความคิดเห็นที่ 3 (2393055)

ปรึกษา ทนายความ เรื่อง การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู

คำถามว่า ใครสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้บ้าง? เรียกได้ในกรณีใดบ้าง? และจะเรียกได้เป็นจำนวนเท่าใด เพราะเหตุใด?


               ในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู สามารถเรียกได้ ระหว่างสามีภริยา หรือระหว่าง บิดามารดากับบุตร ผู้ปกครองกับผู้อยู่ในปกครองหรือผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม  กฎหมายได้กำหตดไว้ให้เรียกได้เมื่อฝ่ายที่ได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูเลย หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ เช่น สามีไม่ให้เงินภริยาไว้จับจ่ายใช้สอยหรือไม่จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้เลย ภริยาย่อมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่การที่ศาลจะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้หรือไม่เพียงใดนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี
              
               ศาลจะพิเคราะห์ถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ และฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบกัน ตัวอย่างเช่น ภริยาประกอบอาชีพมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือ/และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ แบบนี้ภริยาย่อมมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ถ้าฐานะทางเศรษฐกิจของสามีภริยาพอ ๆ กัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล หรือภริยาต้องโทษจำคุกกำลังรับโทษอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของภริยาในขณะนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือภริยาไม่พอใจสามีหรือทิ้งร้างสามีออกจากบ้านและไปจากสามีโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากภริยามาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี ศาลจะไม่สั่งให้สามีชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ก็ได้

     โดยสรุปแล้วข้อเท็จจริงที่ศาลจะนำมาประกอบดุลพินิจในการมีคำสั่งเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาได้แก่ - อายุและสุขภาพของคู่สมรสแต่ละฝ่าย,  รายได้ ทรัพย์สิน และทางทำมาหาได้ของคู่สมรสแต่ละฝ่าย,  คู่สมรสฝ่ายใดต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือไม่,  ความจำเป็นด้านการเงินและหนี้สินของแต่ละฝ่าย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-07-28 21:27:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล