ReadyPlanet.com


สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร (อำนาจปกครองผู้เยาว์)


ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามีนอกใจ ขอเลิก แต่สามีต้องการให้เราออกจากบ้านไป และสามีจะยื่นเรื่องฟ้องศาลขอให้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร เราเป็นแค่แม่บ้าน มีรายได้น้อยคะ เราจะมีวิธีชนะแล้วให้ลูกอยู่กับเราได้ไหมคะ ที่ผ่านมา สามีส่งเสียและดูแลลูกมาตลอดคะ



ผู้ตั้งกระทู้ รส :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-23 21:22:55


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2383528)

กรณีของคุณเป็นเรื่องเด็กที่เกิดจาก บิดา มารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้นบุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เมื่อบิดายังคงเป็นบิดานอกกฎหมายอยู่ แม้จะมีชื่อในสูติบัตรว่าเป็นบิดาก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เกิดความสัมพันธ์ในทางกฎหมายว่า เป็นบุตรและเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้บิดาสามารถเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย 3 วิธีคือ 1. จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง 2. รับรองบุตร (ที่สำนักทะเบียน ณ อำเภอ/เขต) 3. โดยคำพิพากษาของศาล

มาตรา 1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ดังนั้น สิทธิของบิดาที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรย่อมเป็นสิทธิของบิดา ที่ไม่มีใครจะไปห้ามเขาได้ และเมื่อมีเหตุที่จะขอให้ศาลถอนอำนาจปกครองของมารดาในกรณีที่มารดาใช้อำนาจปกครองไม่ชอบก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่หากไม่มีเหตุ แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม ศาลก็ยังให้บุตรอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมารดาได้เสมอ โดยมีคำสั่งให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบางส่วนได้

มาตรา 1564  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1566  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้
 
มาตรา 1567  ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมเกิดสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรไม่ว่าบิดา หรือมารดา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตาม

มาตรา 1584/1  บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม

 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนาย ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-07-08 18:34:13


ความคิดเห็นที่ 2 (2401010)

สิทธิที่จะติดต่อกับบุตร(เยี่ยมบุตร)


เมื่อบิดาหรือมารดาเลิกกันหรือหย่าขาดจากกันไปแล้ว มีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองบุตร และได้ประพฤติขัดขวางไม่ให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรและบุตรได้พบกัน  จนทำให้เกิดมีคดีต่าง ๆ ตามมาของคู่หย่าที่การสมรสสิ้นสุดไปแล้วได้ เช่น การเข้าไปหาบุตรในบ้านของอีกฝ่ายหนึ่งจนถูกแจ้งความว่าบุกรุก  หรือบางครั้งเข้าไปแล้วมีการกีดกันเกิดการกระทบกระทั่ง  จนถึงทะเลาะทุบตีทำร้ายกันในบ้านของเขาจนเกิดเป็นคดีทำร้ายร่างกาย หรือทำให้เสียทรัพย์   ซึ่งมีหลายคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกลงโทษเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่เข้าไปเพื่อหาบุตรผู้เยาว์  เพราะผู้เป็นเจ้าของบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป  หรือเข้าไปแล้วและเจ้าของบอกให้ออกไปแล้วไม่ยอมออก    

ดังนั้นหากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือผู้ปกครองบุตร  ทำการขัดขวางมิให้บิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณีซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือถูกถอนอำนาจปกครองบุตรติดต่อกับบุตรได้   อาจร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก    ช่วยเป็นสื่อกลางในการเจรจา เพื่อใช้สิทธิติดต่อกับบุตร    หรือถ้าหากว่าเจรจาด้วยวิธีใดก็ไม่ได้ผล วิธีสุดท้ายคือการฟ้องหรือร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิ   

ในกรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ  ซึ่งจะทำให้คู่สมรสที่เลิกกันและไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ไม่อาจใช้สิทธิที่จะติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรได้โดยสะดวกนั้น   ในแนวทางที่ปฏิบัติกันมายังคงถือว่าการนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรได้พบปะกับบุตร  เพราะบุตรผู้เยาว์ต้องถือภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครอง  บิดาหรือมารดาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะมาร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งห้ามมิให้นำบุตรออกนอกราชอาณาจักรไม่ได้  หนทางแก้ไขคือหากเห็นว่าเป็นการกีดกันและทำให้ตนและบุตรได้รับผลกระทบมาก  ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองต้องร้องขอต่อศาลขอให้ศาลคืนอำนาจปกครองให้แก่ตนดังเดิม โดยให้ศาลถอนอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดาที่ได้รับอำนาจปกครองบุตรเสีย   ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองบุตรไม่มีสิทธินำเด็กออกไปอยู่ต่างประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กควรจะอยู่ในอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดานั้น  ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ดูแลเด็กได้มากกว่ากัน  ซึ่งมิใช่พิจารณาแต่เพียงฐานะทางการเงินเท่านั้น   เพราะบิดาหรือมารดาซึ่งไม่มีอำนาจปกครองบุตรยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่บุตรจนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะเพราะการหย่าไม่ได้ทำให้อำนาจหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์หลุดพ้นไปด้วย   

ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาจาก เวลาหรือการดูและเอาใจใส่จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาว่าบุตรที่บิดามารดาเลิกกันนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรจากที่ทั้งคู่เคยตกลงกันไว้หรือที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้เดิมหรือไม่  

อย่างไรก็ตามโดยสรุปการที่บิดามารดาเลิกหรือหย่ากันแม้จะไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ตามยังมีสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะติดต่อกับบุตรได้เสมอ  .

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-15 22:08:32



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล