ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




อายุความคดีมรดก และอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก article

แบ่งมรดกไม่สุจริตเป็นการกระทำที่ไม่ชอบการจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้น

ตั้งแต่กระบวนการตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ กรณีต้องถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่นตลอดมา ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาท การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายมาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565

คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นทายาทผู้รับมรดกแทนที่นางสุภาพร ในกองมรดกของนางสว่าง และให้โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพรตามส่วนที่นางสุภาพรมีสิทธิได้รับจากกองมรดกของนางสว่าง และให้เพิกถอนการกระทำนิติกรรมทุกรายการที่นางสาวพรรณีและจำเลยทั้งเก้ากระทำแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2290, 2100, 2098, 2099, 2298 และ 2575 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2465, 2286 และ 2287 เว้นแต่การจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินให้แก่ทางหลวงชนบทและให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้งเก้าแปลงตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นางสุภาพร ให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 273956, 274063 และ 288974 (ที่ถูก 288994) และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 274063 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 หากไม่สามารถเพิกถอนได้ให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยทั้งเก้าซึ่งร่วมทำนิติกรรมในที่ดินแต่ละแปลงใช้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าภาษีทุกประเภทแทนโจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนครราชสีมาส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 11 ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของนางสุภาพร มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพรและมีสิทธิรับมรดกของนางสว่าง เจ้ามรดก เฉพาะส่วนแบ่งของนางสุภาพรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2290, 2100, 2098, 2099, 2298, 2575 และ 2465 ระหว่างนางสาวพรรณี ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างกับนางสาวพรรณีในฐานะส่วนตัว และระหว่างนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี กับเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 273956, 274063, 288994, 2290, 2100, 2098, 2099, 280673, 280674 และ 2465 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2298 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 3 กับเพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 และให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2287, 273956, 274063, 288994, 2290, 2100, 2098, 2099, 280673 และ 280674 หนึ่งในสองส่วน ที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2298 สามในแปดส่วน และที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2465 หนึ่งในสี่ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายรวม 300,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์เป็นบุตรของนายอัมพล กับนางสุภาพร นางสว่าง เจ้ามรดก จดทะเบียนสมรสกับนายทองอยู่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2512 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวพรรณี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรของนางสาวพรรณี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 นายทองอยู่ถึงแก่ความตาย และวันที่ 25 มิถุนายน 2547 นางสว่างถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งนางสาวพรรณีเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองอยู่และนางสว่าง ต่อมาวันที่ 15 และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 นางสาวพรรณีในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างและนายทองอยู่จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2465, 2290, 2100, 2098, 2099, 2298 และ 2575 ให้แก่ตนเอง วันที่ 29 เมษายน 2556 นางสาวพรรณีถึงแก่ความตาย วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลงดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2465, 2290, 2100, 2098 และ 2099 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2298 ให้แก่จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ให้แก่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนแบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 2099 เนื้อที่ 2 งาน 41.7 ตารางวา และเนื้อที่ 2 งาน 11.9 ตารางวา เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่ทางหลวงชนบท แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2099 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 280673 และ 280674 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2287 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 273956, 274063 และ 288994 และจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ให้แก่จำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยตรงกันว่า นางสุภาพรมารดาโจทก์เป็นบุตรของนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนนางสว่างเจ้ามรดก โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางสุภาพรเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 ไม่ฎีกาในประเด็นนี้จึงต้องยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณาตกลงกันได้ โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตั้งแต่กระบวนการตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่านางสาวพรรณีครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อที่สองมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เห็นว่า โจทก์ได้ที่ดินของนางสว่างโดยการรับมรดกแทนที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 แล้ว ได้ความว่าที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ด้วยความสุจริต เสียค่าตอบแทน การที่ศาลชั้นต้นได้นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 แต่คดีนี้แม้โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินหรือชดใช้ราคาแทนที่ดิน โจทก์ไม่นำสืบว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต และเมื่อพิจารณาราคาซื้อขายที่ดิน มีราคาสูงกว่าราคาประเมินมาก จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนี้กรณีจึงไม่อาจเพิกถอนการโอนได้ แต่เงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากการขายที่ดินมรดกเป็นเงินเข้าแทนที่ที่ดินมรดก ถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง โดยมีส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น จึงให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ จึงไม่นอกเหนือหรือเกินไปจากคำขอ แต่สำหรับที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกของนางสว่าง นางพรรณีโอนที่ดินทั้งหมดเป็นของนางพรรณีในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของนางสว่างไปให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่า เป็นทรัพย์มรดกของนางสว่างในส่วนที่โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาโจทก์ที่มีสิทธิรับมรดก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอเพิกถอนได้เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เว้นแต่กรณีโอนให้บุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 สำหรับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 4 ได้ โดยจำเลยที่ 4 จ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 4,300,000 บาท แล้ว เมื่อโจทก์รับเงินแล้วจึงแถลงต่อศาลว่าจะไม่บังคับคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีกต่อไป ตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 และไม่ได้ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 4 เท่ากับโจทก์พอใจในการขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 4 แล้ว จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวได้ย่อมมีผลให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นบางส่วน และเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ จึงฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเพียงใด เห็นว่า เมื่อฟังว่าโจทก์เป็นบุตรของนางสุภาพรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางสว่างเจ้ามรดก โจทก์ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ของนางสุภาพร โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการแบ่งสัดส่วนทรัพย์มรดกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้อง ประเด็นนี้ จึงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า นางสว่างเจ้ามรดกได้ที่ดินมาก่อนสมรสกับนายทองอยู่ ดังนั้น ที่ดินทั้ง 9 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2290, 2287, 273956, 288994, 2100, 2098, 2099, 280673 และ 280674 จึงเป็นสินส่วนตัวของนางสว่างเจ้ามรดก เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายก่อนนางสว่าง ต่อมาเมื่อนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตายสิทธิในที่ดินทั้ง 9 แปลง จึงตกแก่นางสุภาพรและนางสาวพรรณีผู้สืบสันดานของนางสว่าง โจทก์มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้ง 9 แปลง คิดเป็นหนึ่งในสองส่วนของที่ดินทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1633 นางสว่างเจ้ามรดกกับนายทองอยู่จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2512 ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2517 นางสว่างเจ้ามรดกได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 2298 โดยซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากนางพรสมาน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2517 ดังนั้น ที่ดินทั้งสองแปลงนี้จึงเป็นทรัพย์สินที่นางสว่างเจ้ามรดกได้มาในระหว่างสมรสกับนายทองอยู่ ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อนซึ่งเป็นของนางสว่างกึ่งหนึ่งทันทีที่นายทองอยู่ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายทองอยู่ ซึ่งต้องแบ่งให้นางสว่างซึ่งเป็นภริยากับนางสาวพรรณีซึ่งเป็นบุตรคนละกึ่งหนึ่ง ทำให้นางสว่างมีสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลง รวม 3 ใน 4 ส่วน เมื่อนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงตกแก่นางสุภาพรและนางสาวพรรณีผู้สืบสันดานของนางสว่าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงของนางสว่างคนละกึ่งหนึ่งของสามในสี่ส่วนของที่ดินทั้งหมด ที่ดินโฉนดเลขที่ 2465, 2575 นายทองอยู่ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2465 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2490 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางสว่างเจ้ามรดกและได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 แม้ได้มาในระหว่างสมรส ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของนายทองอยู่ เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายจึงต้องแบ่งให้นางสว่างซึ่งเป็นภริยากับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง ต่อมานางสว่างตายต้องแบ่งให้นางสุภาพรกับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่งของหนึ่งในสองส่วน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ด้วย แต่สำหรับที่ดินแปลงที่ขายไป ฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 เป็นสินส่วนตัวของนายทองอยู่ เมื่อนำที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไปขาย เงินที่ขายได้ย่อมเป็นทรัพย์มรดก เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ราคาซื้อขาย 50,500,000 บาท จะต้องนำมาแบ่งให้นางสว่างกับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง จำนวน 25,250,000 บาท และเมื่อนางสว่างถึงแก่ความตาย แบ่งให้นางสุภาพรและนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในสี่ของที่ดินทั้งหมดเป็นเงิน 12,625,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบนำเงินส่วนแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาชำระให้แก่โจทก์ และในฐานะผู้ขายที่ดิน จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการใช้แทนที่ดินมรดกที่เพิกถอนไม่ได้ จึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 12,625,000 บาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินที่เป็นมรดกของนางสว่างโฉนดที่ดินที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อายุความคดีมรดก กับอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก

ในกรณีที่เจ้ามรดก ขณะถึงแก่ความตายไม่มีคู่สมรสและบุตร บิดามารดาถึงแก่ความตายไปแล้วมรดกจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีปัญหาว่าถ้าพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดกแล้วส่วนของพี่น้องที่ตายก่อนเจ้ามรดกจะตกได้แก่ผู้ใด? คำตอบคือตกได้แก่ผู้สืบสันดานของผู้นั้น เป็นการรับมรดกแทนที่ กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีมรดกภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย การที่ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน ทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นเรื่องการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกไม่ใช่การฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะให้ฟ้องได้ภายใน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจะยกอายุความคดีมรดก 1 ปีขึ้นต่อสู้ไม่ได้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1584/2546

          โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639

           การต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้นคดีก่อนจะต้องได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว เมื่อคดีก่อนโจทก์กับพวกได้ถอนฟ้องซึ่งตามมาตรา 176 อาจยื่นใหม่ได้ ทั้งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 148

           โจทก์เป็นทายาทฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจะยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

           โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้ให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดิน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของนางกลิ้ง เสือนา ผู้ตาย โดยการรับมรดกแทนที่นางพัน เอมศรี หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกที่ดิน3 แปลง และมอบเงินฝากในธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชุมแสง จำนวน 40,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีพินัยกรรมของผู้ตายยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แต่พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะในวันทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชุมแสง และลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือที่แท้จริงของผู้ตาย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2534 ของผู้ตายเป็นโมฆะ และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 545,563 และ 669ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้คงสภาพเดิมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินมรดกของผู้ตาย จำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทของผู้ตาย และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของผู้ตายจนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย

          จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทของนางกลิ้งผู้ตาย โจทก์ไม่อาจรับมรดกแทนที่นางพันได้ เพราะนางพันไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล พินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 10สิงหาคม 2534 ตามฟ้องสมบูรณ์ ลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรมเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตาย จำเลยที่ 1 โอนที่ดินสามแปลงและมอบเงิน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 867/2537 ของศาลชั้นต้น โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้โอนทรัพย์มรดกของผู้ตายต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว และโจทก์รู้ว่าผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2538 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2534 ของนางกลิ้งเสือนา ไม่มีผลบังคับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 545, 563 และ 669 ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสงจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองและให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์เพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของนางกลิ้ง เสือนา ผู้ตาย ส่วนคำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นางพันเอมศรีหรือเสือนา เป็นพี่สาวนางกลิ้ง เสือนา ผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายสว่าง เสือนา กับนางเคลือบ เสือนา นายสว่างและนางเคลือบถึงแก่ความตายไปก่อนนางพัน และผู้ตายนางพันถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุโรคชราเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 โดยไม่มีคู่สมรสและบุตร ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีที่ดิน 3 แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 545, 563 และ 669 เอกสารหมาย จ.6ถึง จ.8 ตามลำดับ โดยที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 563 และ 669 ผู้ตายมีชื่อร่วมกับนางธูป อิ่มสมบัติ และมีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 40,000 บาท ตามสำเนาคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำเอกสารหมาย จ.10 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามสำเนาคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2536 เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2534 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 ยกทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและเงินฝากของผู้ตายดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามพินัยกรรมในวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 545 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 563 และ 669 เฉพาะส่วนของผู้ตาย กับเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชุมแสง จำนวน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 867/2537 ของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ตามลำดับ ซึ่งต่อมาจากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินและมอบเงินฝากในธนาคารจำนวน 40,000 บาท ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้วเมื่อวันที่6 กรกฎาคม 2537

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อแรกมีว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกามีใจความว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพัน เอมศรีหรือเสือนา พี่สาวผู้ตายโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นบุตรของนายแปลก เอมศรี กับนางพัน เอมศรีหรือเสือนา นางพันเป็นพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายสว่างหรือหว่าง เสือนากับนางเคลือบ เสือนา นางสว่างและนางเคลือบถึงแก่ความตายก่อนนางพันมารดาโจทก์และนางพันมารดาโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25พฤศจิกายน 2535 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามสำเนาคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2536 เอกสารหมาย จ.1 นางสมวงศ์ ทองนุช พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นบุตรนางผูก นางผูกเป็นพี่สาวของผู้ตาย โจทก์เป็นบุตรของนางพัน นางพันเป็นพี่สาวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นบุตรนางเพียร นางเพียรเป็นพี่สาวของผู้ตาย นางผูกนางเพียรและนางพันถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย นายสำราญ เสือนา พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นบุตรนายเผื่อน เสือนากับนางเทียม เสือนา นายเผื่อนเป็นพี่ชายของผู้ตาย โจทก์เป็นบุตรนางพัน จำเลยที่ 1เป็นบุตรนางเพียร นางเพียรเป็นพี่สาวของผู้ตาย และนายประทุม อิ่มสมบัติ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานกับโจทก์เป็นญาติกัน โดยมารดาโจทก์ชื่อนางพันและเป็นพี่สาวของนางธูปมารดาของพยาน นางพันเป็นพี่สาวของผู้ตาย นางพันกับผู้ตายและนางธูปเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรนางเพียรซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายจุนกับนางเคลิ้ม โดยนายจุนเป็นพี่ชายของจำเลยที่ 1เห็นว่า โจทก์และพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความมีรายละเอียดสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์เป็นบุตรของนางพัน เอมศรีหรือเสือนา ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกันเฉพาะอย่างยิ่งพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวต่างเป็นบุคคลในเครือญาติใกล้ชิดกับทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสอง ซึ่งเชื่อได้ว่าย่อมรู้ความเป็นไปในเครือญาติได้ดี คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ทั้งจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพันและเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างหรือแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นบุตรของนางพันซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมทั้งนางพันมารดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อนางพันถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของนางพันย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางพันโจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของนางพัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสองมีว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่เห็นว่า หลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นฟ้องซ้ำอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น คือ คดีก่อนศาลได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ของศาลชั้นต้น โจทก์กับพวกในคดีดังกล่าวได้ถอนฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติว่า การทิ้งคำฟ้องหรือถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้วอาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ นอกจากนี้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตรา 148 ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1545/2537 ของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสามมีว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่... ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดในธนาคารจำนวน 40,000 บาท ของผู้ตายตามกฎหมาย ข้ออ้างประการอื่น ๆในฎีกาของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวกับประเด็นข้อนี้ถึงวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อสี่มีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกามีใจความว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2535 ซึ่งโจทก์ทราบดีว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายในระหว่างจัดการ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1โอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายตลอดมา โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายเกินกว่า 1 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งศาล โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสามแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 40,000 บาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งสองที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจะยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกอายุความ 5 ปีนี้เท่านั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์จะนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงความตายของผู้ตายแล้วก็ตาม ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 หรืออีกนัยหนึ่งพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมอันจะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้งสามแปลงและเงินสดจำนวน 40,000บาท ของผู้ตาย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและให้คืนเงินสดเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นสุดท้ายมีว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายไม่ได้ถูกฟ้องในฐานะส่วนตัว ศาลไม่อาจพิพากษาบังคับโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้อันให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
          พิพากษายืน
 
หมายเหตุ
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ที่ให้ผู้จัดการมรดกยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ได้ด้วยนั้น มิใช่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เป็นการยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคสาม คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาท ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินของเจ้ามรดก เพื่อให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกตามเดิม โดยไม่ได้ขอแบ่งให้โจทก์จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1754และ 1755 น่าจะมิใช่เพราะมีมาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำมาใช้บังคับดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัย
           ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง ที่กำหนดให้ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกภายใน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดนั้น ใช้บังคับเฉพาะคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งอย่างไรจะถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะต้องดูว่าผู้จัดการมรดกมีอำนาจหน้าที่อย่างไรตามที่บัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา 1714 ถึงมาตรา 1733 แต่คดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยไม่ชอบ อันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนโดยโจทก์ในฐานะทายาทผู้มีกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1336ประกอบมาตรา 1599 ซึ่งไม่มีอายุความ (คำพิพากษาฎีกาที่ 621/2519) ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง เพราะคำขอของโจทก์มิได้บังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่อาจนำมาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับได้
           ไพโรจน์ วายุภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ป.พ.พ.
มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1)  ผู้สืบสันดาน
(2)  บิดามารดา
(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
(6)  ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา 1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา 1733 วรรคสอง คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

 

ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกตาม ป.มาตรา 1748ไม่อยู่ในอายุความมาตรา 1754

หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกนั้นยังไม่ได้แบ่งปัน และทายาทผู้นั้นครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทน ย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ตามมาตรา 1748 โดยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754




คดีมรดก ร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดก

การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายจึงขาดความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย article
แม้กองมรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้อง article
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้ทำต่อหน้าพยานตกเป็นโมฆะ article
บุตรนอกสมรสและบิดานอกกฎหมายมีสิทธิรับมรดกต่อกันอย่างไร article
ผู้จัดการมรดก | ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก article
ผู้จัดการมรดกเรียกให้เจ้าของรวมส่งมอบโฉนดที่ดิน article
การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอายุความ 5 ปียังไม่เริ่มนับ article
สิทธิรับมรดกก่อนหลัง article
คำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ article
อายุความฟ้องคดีแพ่งอันเนื่องจากคดียักยอกทรัพย์มรดก article
เมื่อแบ่งมรดกเสร็จแล้วความเป็นทายาทสิ้นสุดลง-อายุความมรดก article
การแบ่งมรดกที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ article
คดีมรดกต้องเป็นคดีที่ทายาทด้วยกันพิพาทกันเรื่องสิทธิในส่วนแบ่งมรดก article
ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก article
ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ตาย article
แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จปิดบังจำนวนทายาท article
อายุความคดีมรดกสะดุดหยุดลง การแบ่งทรัพย์มรดกไม่ชอบ article
ไม่มีกฎหมายบังคับให้ฟ้องเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี article
สัญญาว่าจ้างติดตามทรัพย์กองมรดกเรียกส่วนแบ่งเป็นโมฆะ article
คดีฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมปลอมและถูกกำจัดมิให้รับมรดก article
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป article
โจทก์ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี article
ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันฟังคำสั่งศาล article
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกอายุความ 5 ปี article
การแจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน article
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด article
โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว article
การที่จะเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น article
พินัยกรรมเอกสารลับทำผิดแบบเป็นโมฆะ article
การจัดการมรดกไม่ชอบไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว article
การจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกตามหน้าที่ที่จำเป็น article
คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกปิดบังทรัพย์มรดกมีผลอย่างไร article
ทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 1 ปี article
ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้มีส่วนได้เสีย article
สามีไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกได้ article
ทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาททุกคน-การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น article
บุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย article
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร? article
ฟ้องผู้จัดการมรดกนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงเกินห้าปีขาดอายุความ article
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลถูกเพิกถอนได้ article
อายุความคดีมรดก เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดกเกินหนึ่งปี article
คดีของโจทก์ขาดอายุความการจัดการมรดก article
บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย article
บุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดาน article
มารดาขายที่ดินซึ่งผู้เยาว์มีส่วนแบ่งไม่ต้องขอศาล article
นายอำเภอคือผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง article
ความรับผิดของผู้จัดการมดกภายหลังการเสียชีวิต article
ผู้จัดการมรดกร่วมนำทรัพย์มรดกหาประโยชน์แก่ตน article
ผู้จัดการมรดกปฏิบัติผิดหน้าที่-ทายาทผู้มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ article
ผู้สืบสันดาน คือใคร? ต่างกับทายาท อย่างไร? article
คู่สมรสและการแบ่งมรดกของคู่สมรส | การสมรสเป็นโมฆะ article
เหตุอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก article
การปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้วการถอนผู้จัดการมรดกย่อมพ้นกำหนดเวลา article
สามีมิได้จดทะเบียนสมรสไม่ถือเป็นทายาทของภริยาผู้ตาย article
อำนาจหน้าที่จัดการศพพระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สิน article
สามีไม่จดทะเบียนสมรสขอถอนผู้จัดการมรดก มีกรรมสิทธิ์รวม article
ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก article
อำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย article
ทายาททุกคนมอบหมายให้ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วม article
ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 article
ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก article
ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความแล้ว article
ทายาทมีส่วนเท่ากันออกค่าใช้จ่ายจัดการทำศพ article
ความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก article
ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น article
สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย article
หนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่? article
อำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพและลำดับก่อนหลัง article
พินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน article
ผู้จัดการมรดกฟ้องแทนทายาทโดยธรรมอื่น article
คู่สมรสที่จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ article