ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




การฟ้องหย่าและหย่าโดยคำพิพากษาของศาล

   -ปรึกษากฎหมาย นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ

     โทร.085-9604258

   -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์   

   (1) @leenont 

   (2) @peesirilaw  

   (3) 0859604258 เพิ่มด้วยหมายเลขโทรศัพท์

  -Line Official Account : เพิ่มเพื่อน QR CODE

peesirilaw@leenont

การฟ้องหย่าและหย่าโดยคำพิพากษาของศาล         

สามีฟ้องหย่าภริยาอ้างเป็นโรคทางประสาทและจิตและแพทย์ลงความเห็นว่าภริยาเป็นโรคจิตอย่างร้ายแรงไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ต่อมาสามีภริยาทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลภายหลังยื่นฟ้องเพียงเดือนเดียวโดยไม่มีทนายความพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลรับฟังว่าสามีฟ้องแล้วใช้อุบายพาภริยาซึ่งวิกลจริตไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นการฉ้อฉล ภริยาขอให้เพิกถอนสัญญาและคำพิพากษาตามยอมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 537/2535

คดีปรากฏตามฟ้องของโจทก์เองว่า จำเลยล้มป่วยเป็นโรคผิดปกติทางประสาทและจิต และแพทย์ลงความเห็นว่า จำเลยมีอาการโรคจิตอย่างร้ายแรงไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ และในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเวลาภายหลัง โจทก์ยื่นฟ้องเพียงเดือนเดียว จำเลยก็ไม่มีทนายความ ตามคำแก้อุทธรณ์และฎีกาโจทก์ก็ไม่ได้โต้เถียงว่ามิได้ปิดบังลอบพาจำเลยไปศาล ได้แต่โต้แย้งว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยมีความรู้สึกผิดชอบดีทุกประการ ซึ่งก็ขัดกับข้ออ้างที่โจทก์ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องแล้วใช้อุบายพาจำเลยซึ่งวิกลจริตไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นกรณีที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปเพราะถูกโจทก์ฉ้อฉลจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนสัญญานั้นและคำพิพากษาตามยอมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1)

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยล้มป่วยโดยโรคผิดปกติทางประสาทและจิต ตั้งแต่ปลายปี 2522 มีอาการเพ้อเจ้อคุ้มดีคุ้มร้ายอาละวาดและไม่ยอมให้โจทก์ร่วมประเวณี แพทย์ลงความเห็นว่าจำเลยมีอาการทางโรคจิตอย่างร้ายแรง ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนหย่า ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ต่อมาโจทก์จำเลยร่วมกันแถลงว่าสามารถตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ยื่นต่อศาลมีใจความว่า โจทก์จำเลยจะจดทะเบียนหย่ากันภายใน 15 วันโจทก์ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เดือนละ 6,000 บาท และยอมให้สินสมรสตามฟ้องเป็นของจำเลย จำเลยยอมให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

จำเลยอุทธรณ์ว่า สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า10 ล้านบาท โจทก์ประสงค์จะหย่ากับจำเลยเพื่อไปสมรสกับหญิงอื่นโจทก์หลอกลวงฉวยโอกาสพาจำเลยซึ่งเป็นคนวิกลจริตไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยลำพังไม่ให้ญาติจำเลยทราบ และจำเลยไม่มีทนายแม้ศาลจะอ่านข้อความใด ๆ ให้ฟังจำเลยก็ไม่เข้าใจเนื่องจากจำเลยวิกลจริต ไม่มีความรู้สึกผิดชอบ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยถูกโจทก์ฉ้อฉลหรือไม่พิเคราะห์แล้วปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์เองว่า จำเลยล้มป่วยเป็นโรคผิดปกติทางประสาทและจิตมาตั้งแต่ปลายปี 2522 และแพทย์ลงความเห็นว่าจำเลยมีอาการโรคจิตอย่างร้ายแรงไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องเพียงเดือนเดียวจำเลยก็ไม่มีทนายความตามคำแก้อุทธรณ์และฎีกาโจทก์ไม่ได้โต้เถียงว่ามิได้ปิดบังลอบพาจำเลยไปศาล ได้แต่โต้แย้งว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยมีความรู้สึกผิดชอบดีทุกประการ ซึ่งก็ขัดกับข้ออ้างที่โจทก์ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยมีอาการทางโรคจิตอย่างร้ายแรงไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยว่า โจทก์ฟ้องแล้วใช้อุบายพาจำเลยซึ่งวิกลจริตไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไป เพราะถูกโจทก์ฉ้อฉล จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนสัญญานั้นและคำพิพากษาตามยอมได้

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 138 ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอม ความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนี ประนอมยอมความเหล่านี้ไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น
 ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความ
 ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2535

การแจ้งความของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายให้อำนาจส่วนผลของการแจ้งความจะเป็นประการใดเป็นอีกส่วนหนึ่ง การแจ้งความของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือเป็นเหตุหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) กรณีที่จำเลยฟ้องคดีอาญากล่าวหาโจทก์และ พ. ร่วมกันแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น จำเลยกระทำการโดยสุจริตโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะกระทำได้หาใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในข้อหาแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อมาจำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาโจทก์ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองกรณี เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกศาลและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวอันเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถร่วมอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยอีกต่อไปได้ขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่จำเลยฟ้องโจทก์และนางพยุรีเป็นจำเลยในข้อหาแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพราะทั้งสองได้สมคบกันฉ้อฉลและแสดงเจตนาลวง โดยให้โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้แก่นางพยุรีซึ่งบุคคลทั้งสองไม่มีหนี้สินต่อกัน และนางพยุรีฟ้องโจทก์เรียกเงินตามเช็คดังกล่าว ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และนางพยุรีได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย เป็นการละเมิดต่อจำเลย จำเลยจึงต้องป้องกันสิทธิของตน ส่วนที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะโจทก์ได้โอนขายรถยนต์อันเป็นสินสมรสให้แก่บุคคลภายนอก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย และโจทก์ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นโสด โดยลงลายมือชื่อรับรองข้อความดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาโจทก์ในประการแรกที่ว่าจำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์ ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นเหตุหย่านั้น ได้ความว่าโจทก์จำเลยได้ซื้อรถยนต์ภายหลังจากที่สมรสกันแล้ว รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การที่โจทก์ขายรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นโดยที่จำเลยไม่ทราบ และได้ระบุในบันทึกคำแจ้งความเรื่องขอโอนและขอรับโอนทะเบียนรถยนต์ว่าโจทก์เป็นโสด มีเหตุให้จำเลยเชื่อได้ว่าโจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการแจ้งความของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายให้อำนาจ ส่วนผลของการแจ้งความจะเป็นประการใดนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง และไม่เป็นการตัดสิทธิของจำเลยที่จะเลือกแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน การแจ้งความของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงที่จะถือว่าเป็นเหตุหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)

ฎีกาในข้อต่อไปของโจทก์ที่ว่า จำเลยฟ้องโจทก์และนางพยุรีเป็นจำเลยคดีอาญา ในข้อหาร่วมกันแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นเหตุหย่านั้น แม้โจทก์จะอ้างในฎีกาว่าผลของคดีศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่มูลเหตุที่จำเลยดำเนินคดีกับโจทก์และนางพยุรีซึ่งเป็นพี่สาวโจทก์ มีเหตุสมควรที่ทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า หนี้สินระหว่างโจทก์กับนางพยุรีไม่น่าจะเป็นหนี้สินที่โจทก์ต้องชำระให้แก่นางพยุรี จึงเป็นหนี้ที่สมยอมกันเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยให้ต้องถูกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมนอกจากนี้หลังจากนางพยุรีฟ้องคดีเรียกเงินตามเช็คจากโจทก์แล้วในชั้นบังคับคดีได้มีการนำยึดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยร่วมกัน จากพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีดังกล่าวทำให้จำเลยเข้าใจว่าการถูกยึดทรัพย์เป็นผลมาจากการกลั่นแกล้งของโจทก์โดยร่วมมือกับนางพยุรี ดังนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้เพื่อป้องกันส่วนได้เสียและปกป้องทรัพย์สินของจำเลย หาใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)

สำหรับฎีกาในข้อที่ว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรเมื่อคำนึงถึงสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยามาคำนึงประกอบจึงควรพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันนั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาการบริหารพยาบาลปัจจุบันรับราชการตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ที่กรมการแพทย์ทหารบก แต่ลาออกเมื่อปี 2522 แล้วไปทำงานบริษัทโอซูก้า จำกัด จำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณกลางปี 2525 มีคนบอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ไปติดพันจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังไม่แน่ใจจนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2528 โจทก์ติดตามไปพบจำเลยที่ 1อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองแต่งกายลักษณะอยู่กับบ้านบ่งบอกถึงการเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 1 ขู่เข็ญให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 จึงหาเหตุฟ้องหย่ากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดหน้าที่ต่อโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคม ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรู้จักกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมงานไม่เคยประพฤติหรือแสดงว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองสูงเกินสมควรค่าเสียหายหรือค่าทดแทนหากมีก็ไม่เกิน 5,000 บาท คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาบางส่วน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวหรือไม่นั้นโจทก์นำสืบพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ว่าเป็นไปในทำนองชู้สาว โดยเฉพาะโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เคยกล่าวกับบุคคลอื่นหลายคนว่าโจทก์ไม่ใช่ภรรยาของจำเลยที่ 1 ภรรยาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โจทก์เคยติดตามดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 2 พบว่าจำเลยที่ 1 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาดังที่ นางระพีพรรณ ทับเที่ยง พยานโจทก์เบิกความว่าพบจำเลยที่ 1 นุ่งกางเกงขาสั้นชุดลำลองอยู่บ้าน และจำเลยที่ 2 นุ่งกระโจมอกเตรียมจะอาบน้ำ ซึ่งโจทก์ได้ถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ในภาพถ่ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 อยู่ในชุดลำลองโดยแต่งกายตามสบาย ในลักษณะพักผ่อนอยู่กับบ้าน แสดงว่าจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ในบางโอกาสโดยมีความสนิทสนมที่ใกล้ชิดกันพิเศษ เกินกว่าความสัมพันธ์ฐานเพื่อนร่วมงาน ที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวระหว่างกันนั้น ยังรับฟังลบล้างความเชื่อถือของพยานโจทก์ไม่ได้ โดยเฉพาะสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5จำเลยที่ 1 ได้เบิกความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5923/2528 ของศาลแพ่ง โดยเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เสียกับจำเลยที่ 2 แล้วแต่ยังไม่ได้ยกย่องจำเลยที่ 2เป็นภรรยา เป็นพยานหลักฐานซึ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวที่ชัดเจน ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กล่าวไปเช่นนั้น ก็เพื่อประชดให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1เพราะไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ต่อไป ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวที่มีเหตุผลเพราะเป็นการเบิกความในการพิจารณาของศาลที่พยานซึ่งสาบานตนแล้ว จะต้องเบิกความตามความเป็นจริงและการเบิกความดังกล่าวก็ไม่มีกรณีที่จะต้องมากล่าวประชดต่อกันอีกเนื่องจากล่วงเลยมาถึงขั้นดำเนินคดีฟ้องให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกันจริง คงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ในปัญหานี้แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การแสดงตนที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้เบิกความถึงในข้อนี้โดยตรง แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2โดยนางพันธุ์ทิพย์ วัฒนศิริ ซึ่งอยู่ในละแวกนั้นเบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปไหนมาไหนด้วยกันเด็กชายพสุ ตันติลีปิกร บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอนร่วมเตียงเดียวกันและจำเลยที่ 2เคยไปบ้านของมารดาจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 1 ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผยโดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่า บุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันดังที่จำเลยที่ 2 เองก็รับว่า โจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1ไปบ้านของจำเลยที่ 2 คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1

ส่วนจำเลยค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหาย และศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนสูงเกินสมควร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่า ตนมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัว และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 โดยตรงอยู่แล้ว ทั้งในข้อนี้โจทก์นำสืบให้เห็นว่า โจทก์มีสถานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์นี้เกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างมากอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองสำหรับจำนวนค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกันที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวน 50,000 บาท เป็นจำนวนค่าทดแทนที่สมควรแก่รูปเรื่องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น

จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความในปัญหานี้ แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยทั้งสองตั้งแต่กลางปี 2525 ก็ตาม แต่คำฟ้องนั้นเองก็อ้างว่าความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2528 ในชั้นนำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นอยู่ต่อมามิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529

พิพากษายืน

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535

 เมื่อกรณีมีเหตุที่ทำให้จำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะ เลี้ยงดูหญิงอื่น ถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวต่อพลทหารรับใช้ ขณะที่โจทก์ไปราชการชายแดนสาปแช่ง โจทก์ว่า ถ้าพิการก็เลี้ยงดูเอาเอง หากตายจะกลับมาเอาเงิน ทั้งบุพการีของโจทก์เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่า ทำตัวไม่น่านับถือ หากถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงก็ไม่เป็นการ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรง เป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์ อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเท่านั้น โจทก์อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา เมื่อจำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์และแยกไปอยู่ที่อื่น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า แต่กรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิ ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์ยังอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นและทำการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะให้จำเลยฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำยังไม่สิ้นสุด ฟ้องแย้งของจำเลย จึงไม่ขาดอายุความ.

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีจำเลย จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี และหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรงขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้ก่อเหตุหย่าแต่ผู้เดียวจำเลยไม่ได้จงใจละทิ้งร้างโจทก์ ไม่เคยด่าว่าโจทก์และบิดามารดาโจทก์ โจทก์ได้อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องนางสมคิดเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยอย่างสามีภริยาทั่วไป และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันหากโจทก์ไม่ยอมหย่าให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนให้โจทก์ใช้ค่าทดแทน 200,000 บาท กับค่าเลี้ยงชีพ 50,000 บาทแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ระหว่างโจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันโจทก์ไม่เคยยกย่องนางสมคิดเป็นภริยาและไม่มีบุตรด้วยกันโจทก์อุปการะเลี้ยงดูจำเลยตามกำลังของโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมและขาดอายุความจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันตามฟ้องแย้งของจำเลย ให้โจทก์ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกมีว่าเหตุหย่าเกิดจากความผิดของโจทก์หรือจำเลย โจทก์เบิกความว่าได้รับคำบอกเล่าจากพลทหารรับใช้ที่บ้าน 2 คน เมื่อโจทก์กลับจากราชการชายแดนว่าจำเลยได้สาปแช่งโจทก์ว่าถ้าพิการก็เลี้ยงดูเอาเองหากตายก็จะกลับมาเอาเงิน ทั้งผู้บุพการีของโจทก์เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่าทำตัวไม่น่านับถือเข้าข้างโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวถ้าหากจำเลยได้กล่าวต่อพลทหารรับใช้ทั้งสองคนจริง จะเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีโจทก์อันเป็นการร้ายแรงหรือไม่ จะเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยย้ายมาพักอยู่กับโจทก์แล้ว มีเหตุที่ทำให้ระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจและมีการทะเลาะกับโจทก์เสมอ แม้เวลาโจทก์ไม่อยู่บ้านจำเลยจะกล่าวถ้อยคำอย่างที่โจทก์เบิกความจริง ก็มิใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ เป็นถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่จำเลยทราบว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นและมิใช่เป็นคำกล่าวที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ส่วนที่จำเลยละทิ้งโจทก์ไปนั้น ปรากฏว่าจำเลยได้ออกจากบ้านที่พักอยู่กับโจทก์ไปจริง เนื่องจากทะเลาะกันเป็นประจำ จำเลยทนอยู่กับโจทก์ไม่ได้ ได้แยกไปอยู่ที่อื่นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 ต่อมาก็ได้อยู่กินกับนางสมคิดจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน เกิดเมื่อวันที่ 6พฤษภาคม 2529 แม้จะเป็นเวลาประมาณ 12 เดือน นับแต่จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไป แต่เหตุที่โจทก์กับจำเลยทะเลาะและแตกแยกกันก็มีสาเหตุมาจากนางสมคิดและภายหลังโจทก์ก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสมคิดจริง เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์มีความสัมพันธ์กับนางสมคิดมาก่อนที่จำเลยลาออกจากบ้านที่พักกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา เมื่อจำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์และแยกไปอยู่ที่อื่น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้ายโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ แต่กรณีที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ส่วนจะขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า ขณะนี้โจทก์ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสมคิด เป็นการอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นและกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำไม่สิ้นสุด ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน. 

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2536

 จำเลยเคยขอให้โจทก์หาที่พักต่างหากจากที่อาศัยอยู่กับเพื่อนในค่ายทหารที่จังหวัดนครพนม แต่โจทก์ไม่ดำเนินการใด ฉะนั้นการที่จำเลยยังคงทำงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจึงเป็นเพราะโจทก์ไม่ขวนขวายหาที่พักอันเหมาะสม เพื่อโจทก์จำเลยจะได้อยู่ร่วมกันส่อเจตนาว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยไปอยู่ร่วมกัน กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า การที่จำเลยมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของโจทก์ขอค่าเลี้ยงดูจากโจทก์ตามคำแนะนำของนายทหารพระธรรมนูญซึ่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์ผู้แนะนำให้ไปหารือด้วยนั้นเป็นการดำเนินการไปตามข้อบังคับทหารว่าด้วยการปกครองครอบครัว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยแต่กลับได้ความว่าโจทก์ได้เลื่อนยศตามลำดับตามการร้องเรียนของจำเลยจึงไม่ถึงขนาดทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เช่นเดียวกัน

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปีและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยา

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้จงใจละทิ้งร้างโจทก์ มิได้ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าโจทก์พักอาศัยอยู่กับเพื่อนโจทก์ในค่ายทหารตลอดมาเมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้วจำเลยได้ขอให้โจทก์หาที่พักต่างหากเพื่อจำเลยจะได้โอนย้ายไปอยู่กับโจทก์ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการประการใดในข้อนี้โจทก์เองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยรับว่าโจทก์พักอาศัยอยู่กับเพื่อนทหารสองคน และจำเลยเคยขอให้โจทก์หาบ้านพักในจังหวัดนครพนม แต่โจทก์ไม่สามารถหาได้ ทั้งได้ความจากร้อยโทวรายุทธ สียางนอก ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ พยานโจทก์เองว่าโจทก์ไม่เคยขอบ้านพักในค่ายทหารจากพยาน จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวเห็นได้ว่าการที่จำเลยยังคงทำการงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครก็เพราะโจทก์ไม่ขวนขวายหาที่พักอันเหมาะสมเพื่อโจทก์จำเลยจะได้อยู่ร่วมกัน ส่อเจตนาว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยไปอยู่ร่วมกันมากกว่า กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ ส่วนการที่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ถึงผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้ดำเนินการไปตามคำแนะนำของนายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์เป็นผู้แนะนำให้ไปหารือด้วย ทั้งเป็นการดำเนินการไปตามข้อบังคับทหารว่าด้วยการปกครองครอบครัว ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ข้อ 5 ตามเอกสารหมาย ปล.1 ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาไม่ได้ความว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาระหว่างโจทก์จำเลยมาคำนึงประกอบแล้ว แต่กลับได้ความจากคำของโจทก์เองว่าโจทก์ได้เลื่อนยศตามลำดับมา การร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยไม่ถึงขนาดทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุหย่าได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2536

 โจทก์นำหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านและมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาจำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานอาหารด้วยกัน ประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย 3-4 เดือน จำเลยถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จึงกลับไปอยู่บ้านเดิม แต่โจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินใช้เดือนละ 4,000บาท ในปี 2527 จำเลยบวชชีโจทก์ทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้จำเลยเดือนละ 4,000 บาท เพิ่งจะงดส่งเงินนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมา ดังนี้ แม้โจทก์จะมีเหตุหย่าจำเลยตามกฎหมายก็ตาม แต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไรโจทก์เคยให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยให้สำนวนหลังว่า โจทก์ และให้เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปีโดยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูบุตร และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์และบุตรได้รับความเดือดร้อนและอับอายเป็นอันมาก โจทก์ไม่อาจอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยากันได้ต่อไป ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน

จำเลยให้การว่า โจทก์และบิดาโจทก์ขับไล่จำเลยออกจากบ้านและคัดชื่อจำเลยออกจากทะเบียนบ้าน จำเลยจึงไปบวชชีเพื่อรักษาจิตใจโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ และโจทก์จ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยเดือนละ 4,000 บาท จำเลยจะสึกเมื่อใดก็ได้ การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นการทิ้งร้างโจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า จำเลยหาเรื่องทะเลาะทุบตีโจทก์ไล่โจทก์ออกจากบ้านและถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ต่อมาจำเลยนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่ในบ้านและยกย่องเลี้ยงดูฉันสามีภรรยา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนไม่มีปัจจัยไว้ใช้ยามจำเป็นขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962 อันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาทนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันไปจนตลอดชีวิตของโจทก์

จำเลยให้การว่า เหตุหย่าเกิดจากการกระทำผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ทำให้โจทก์ยากจนลงแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 4,000 บาท ตลอดชีวิตของโจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962 จำเลยซื้อมาด้วยเงินที่บิดาจำเลยให้มาโดยเสน่หาจำนวน 82,000 บาท จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยมิใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่ากับจำเลย ณ ที่ว่าการเขตภายในกำหนด 15 วัน และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21961 และ 21962ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยเดือนละ4,000 บาท นับแต่วันจดทะเบียนหย่าจนตลอดชีวิตของจำเลยหรือจนกว่าจะมีสามีใหม่ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกา ข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยตามกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2520 จำเลยไล่โจทก์พร้อมทั้งบุตรสาวให้ออกจากบ้านและโยนเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ของโจทก์ออกจากบ้านกับใช้คำพูดเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า นอกจากนี้เมื่อปี 2527 จำเลยหนีไปบวชชีเกิน 1 ปีโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยมีนางสาวทิพาพรบุตรสาวโจทก์จำเลยเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน พยานและน้องสาวตามโจทก์ไปอยู่บ้านเลขที่ 65 ซอยศึกษาวิทยา แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของบิดามารดาโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ก็ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานข้าวด้วยกันเมื่อประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย จำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเป็นเพียงแม่บ้านดูแลบุตร หลังจากจำเลยมาอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน จำเลยก็ถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จำเลยก็กลับไปอยู่บ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านบิดามารดาจำเลย โจทก์ก็ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินจำเลยใช้เดือนละ 4,000 บาท พยานและน้องสาวผลัดกันนำเงินไปให้จำเลย จำเลยบวชชีเมื่อประมาณปี 2527 ก่อนที่จะบวชชีจำเลยมาปรึกษาพยานและน้องสาว ทุกคนเห็นชอบด้วย ส่วนโจทก์เมื่อทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและโจทก์ยังคงไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้แก่จำเลยเดือนละ 4,000 บาท โจทก์งดส่งเงินให้จำเลยนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมาเห็นว่า พยานปากนี้เป็นบุตรของโจทก์จำเลย หลังจากโจทก์จำเลยทะเลาะกันและแยกกันอยู่พยานปากนี้ก็ไปอยู่กับโจทก์ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าพยานปากนี้จะเบิกความเข้าข้างจำเลย คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้นแม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสองกรณีเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตามแต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากคำเบิกความของพยานปากนี้ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518

ประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความนำสืบตรงกันฟังได้ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2529 โจทก์นำนางสาวลัดดา มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา มีบุตรหญิงด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กหญิงสิทธิดาโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา และคดีก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอันแสดงว่าได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)...

ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่ในข้อนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวเนื่องจากโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันสามีภรรยา และได้ความจากนางสาวทิพาพรพยานจำเลยว่าจำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไร คงเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลงแน่นอน จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"

พิพากษายืน

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดี หย่านั้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2536

 การที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแรกในปี 2529 แล้วโจทก์ย้ายออกจากบ้านของจำเลยที่เคยอยู่กินร่วมกันมาแต่แรกนานถึง8 ปีเศษ จึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งร้างจำเลยไปเอง เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยไปเช่นนี้ โจทก์จะอาศัยเหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์จะให้จำเลยย้ายไปอยู่กับโจทก์ที่บ้านซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อนมาเป็นเหตุฟ้องหย่า โดยอ้างว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับจำเลยตั้งแต่ปี 2520 มีสินสมรส คือ รถยนต์ยี่ห้อฮีโน่ ราคาประมาณ 200,000 บาทในปี 2529 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง หลังจากนั้นโจทก์ไปขออยู่กินกับจำเลย จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภรรยากัน ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและให้จำเลยแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การว่า โจทก์ไปเกี่ยวข้องกับหญิงอื่น จำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาและยังประสงค์ให้โจทก์กลับไปอยู่กินกับจำเลย รถยนต์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสนั้นความจริงเป็นสินเดิมของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแรกในปี 2529 แล้วย้ายออกจากบ้านของจำเลยที่เคยอยู่กินร่วมกันมาแต่แรกเป็นเวลาถึง8 ปีเศษ เป็นการที่โจทก์ละทิ้งร้างจำเลยไปเอง หากโจทก์ประสงค์จะคืนดีกับจำเลยก็ชอบที่โจทก์จะกลับไปอยู่กับจำเลยที่บ้านเลขที่ 153ซึ่งเคยร่วมอยู่กินกันมาแต่เดิม แต่โจทก์กลับตั้งเงื่อนไขให้จำเลยย้ายไปอยู่กับโจทก์ที่บ้านเลขที่ 46 ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยไป โจทก์จะอาศัยเหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์มาเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2537

 จำเลยด่าว่าภริยาและมารดาของภริยาต่อหน้าบุคคลอื่นว่า"ซื้อหมาอ้วนมาตัวหนึ่งราคา 100,000 บาท วัน ๆ ไม่ทำอะไร นอนอยู่แต่หน้าเตา โคตรเง่าเหล่าอีหมวยกูไม่เอามาทำพันธุ์อีกแล้ว"คำว่าหมาอ้วนหมายถึงภริยาส่วนคำว่าอีหม่วยหรืออีม่วยหมายถึงมารดาของภริยา ถ้อยคำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทภริยาและบุพการีของภริยาอย่างร้ายแรงตามกฎหมายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นภริยาจึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยได้พูดต่อหน้าคนเกี่ยวข้าวด้วยกันหลายคนว่า "ข้าซื้อหมาอ้วนตัวหนึ่งคือเมียข้าราคาแสนบาทเลี้ยงจนขนเหี้ยน บางวันไม่ได้ทำอะไรเลยได้แต่นอนอยู่หน้าเตาโคตรเง่าเหล่าอีหม่วย (มารดาโจทก์) กูไม่เอาทำพันธุ์อีกแล้ว อีหม่วยก็เลวเมียกูก็เลวตาม" นอกจากนี้จำเลยไล่โจทก์และบุตรออกจากบ้านโดยด่าทอโจทก์และมารดาโจทก์อีกว่าม่วยโคตรเง่าเหล่าอีหม่วย (มารดาโจทก์) กูไม่เอาทำพันธุ์อีกแล้วมึงไปเลยก็ไม่ได้แค่นให้มึงอยู่" โจทก์กับบุตรจึงออกจากบ้านจำเลยไปวันรุ่งขึ้น โจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแสวงหาการกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้นเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงและจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควร กับทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรงและการกระทำดังกล่าวนี้ถึงขนาดโจทก์เดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงมีความประสงค์ขอหย่าขาดจากจำเลยเสีย ขอให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทองภายใน 7 วัน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย ให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน 39,345 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยด่าว่า ดูหมิ่นเหยียดหยามหรือกร้าวร้าว โจทก์หรือบุพการีของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยไม่เคยทะเลาะวิวาทกับโจทก์ถึงขนาดขับไล่โจทก์ออกจากบ้านตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่ประการใด มารดาโจทก์ขับไล่โจทก์และจำเลยให้ออกจากบ้าน โดยด่าจำเลยอย่างหยาบคายว่า "ไอ้เหล่าตาเหลืองโคตรเง่าเหล่านี้ไม่อยากได้ จะมาแย่งสมบัติกูไป" ทำให้โจทก์และจำเลยทะเลาะวิวาทกับมารดาโจทก์และออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาจำเลยโจทก์และจำเลยได้เปิดร้านขายแก๊สโดยแลกเปลี่ยนถังแก๊สที่บ้านพี่สาวจำเลยโดยบิดามารดาจำเลยนำเงินมาลงทุนให้ 5,000 บาท โจทก์และจำเลยมีผลกำไรจากการขายแก๊สพอเลี้ยงครอบครัวไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้นต่อมาจำเลยได้อบรมสั่งสอนโจทก์ให้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสนใจทำมาหากินบ้างเพราะโจทก์เป็นคนเกียจคร้านและทำงานบกพร่องอยู่เสมอ ทำให้โจทก์โกรธและทะเลาะวิวาทกับจำเลย โจทก์จึงหนีออกจากบ้านไปอยู่กับมารดาโจทก์และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแสวงหา เพื่อขอหย่ากับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธว่ายังไม่ต้องการหย่า เพราะสงสารบุตรชาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน 39,345 บาทคำขออื่นให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ เห็นว่านอกจากโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยได้ด่าว่าโจทก์ว่า "ซื้อหมาอ้วนมาตัวหนึ่งราคา 100,000 บาท วัน ๆ ไม่ทำอะไรนอนอยู่แต่หน้าเตาโคตรเง่าเหล่าอีหม่วยกูไม่เอามาทำพันธุ์อีกแล้ว" โดยคำว่าหมาอ้วนหมายถึงโจทก์ ส่วนคำว่าอีหม่วยหรืออีม่วยหมายถึงมารดาโจทก์โจทก์ยังมีนางผาดและนายพลเป็นพยานคนกลางมิได้เป็นญาติหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโจทก์แต่อย่างใดและไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เบิกความสนับสนุนคำเบิกความโจทก์ให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามความเป็นจริงจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น แต่กลับให้การรับว่ามารดาโจทก์ได้ทะเลาะกับจำเลยบ่อยครั้งและได้ขับไล่โจทก์จำเลยออกจากบ้าน หลังจากนั้นจำเลยเคยสั่งสอนโจทก์เพราะโจทก์เกียจคร้านทำงานบกพร่องอยู่เสมอ เมื่อจำเลยตักเตือนทำให้โจทก์โกรธและทะเลาะกัน เจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ด่าว่าโจทก์และมารดาโจทก์ตามฟ้องจริง ถ้อยคำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีโจทก์อย่างร้ายแรงโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2537

 การที่จำเลยได้ไปพูดกับเพื่อนนักศึกษาของโจทก์ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศว่า "โจทก์มีเมียมาก มักมากในกาม โหดร้ายอำมหิต อย่าแนะนำหญิงอื่นให้รู้จักกับโจทก์ แม้แต่เมียของตนเองก็ตาม โจทก์จะหลอกเอาทำเมียอีกคน" เป็นคำพูดที่ต้องการให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) เป็นเหตุให้โจทก์นำมาฟ้องหย่าได้ 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ขณะที่โจทก์ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศจำเลยได้โทรศัพท์ใส่ร้ายโจทก์ต่อเพื่อนนักศึกษาว่า โจทก์เป็นคนมักมากในกาม เป็นคนใจดำอำมหิต ถ้ามีเมียก็อย่าแนะนำให้รู้จักเพราะไว้ใจไม่ได้ ถ้าเผลอเมื่อไหร่อาจถูกหลอกเอาทำเมียอีกคน ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ยอมแบ่งก็ให้ใช้เงินจำนวน 142,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยาต่อโจทก์ และไม่เคยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยแบ่งสินสมรสแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่แบ่งให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 137,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพูดของจำเลยว่า "โจทก์มักมากในกามโหดร้ายอำมหิต อย่าแนะนำหญิงอื่นให้รู้จักกับโจทก์ แม้แต่เมียของตนก็ตาม โจทก์จะหลอกเอาทำเมียอีกคน" จำเลยพูดที่โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศขณะโจทก์ไปเรียนอยู่ โดยพูดกับเพื่อนนักศึกษาของโจทก์ เป็นคำพูดที่ต้องการให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) เป็นเหตุให้โจทก์นำมาฟ้องหย่าได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดธรรมดาที่ภริยาที่มีความรักสามี เป็นการกระทำด้วยอารมณ์หึงหวงโจทก์อยู่ในฐานะจะป้องกันเหตุเหล่านี้มิให้เกิดขึ้นได้โดยละเว้นความประพฤติดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะขณะจำเลยพูดนั้นโจทก์มิได้กำลังทำการใด ๆ ที่จำเลยจะต้องแสดงออกด้วยคำพูดดังกล่าว การกระทำของจำเลยมุ่งประจานโจทก์ต่อบุคคลที่ไม่รู้จักกันเลย เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุตามกฎหมายให้โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2537

 การที่จำเลยสืบทราบว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหญิงอื่นจึงเสพสุรา สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท และติดตามควบคุมโจทก์ในวิทยาลัยที่โจทก์ทำงานอยู่นั้น แม้พฤติการณ์ของจำเลยจะก่อให้โจทก์เกิดความเบื่อหน่ายอับอายในหมู่เพื่อนอาจารย์และนักศึกษา แต่ก็เกิดจากความรักหึงหวงหวาดระแวงของจำเลยตามวิสัยสตรีเพศที่เป็นภริยาซึ่งอาจปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ถ้าโจทก์ไม่แสดงความรำคาญใจและฝักใฝ่ในสตรีอื่นให้ปรากฏ ทั้งจำเลยเองก็ไม่สมัครใจหย่าตัดความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่ถึงขั้นประพฤติชั่วที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงหรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเดือดร้อนเกินควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินร่วมกันจำเลยหาเรื่องทะเลาะวิวาททุบตีโจทก์ทั้งที่บ้านและไปรบกวนโจทก์ที่ทำงาน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ได้รับการดูถูกเกลียดชัง จำเลยบังคับขู่เข็ญให้โจทก์ลาออกจากงานที่ทำอยู่ ด่าบุพการีโจทก์อย่างหยาบคายหลายครั้งหลายหนตลอดมา และขับไล่โจทก์ออกจากบ้านไม่ให้อยู่กินฉันสามีภริยาจนโจทก์ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น การกระทำของจำเลยเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่าหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ หากไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยหาเรื่องทะเลาะวิวาทหรือทุบตีโจทก์ ไม่เคยบังคับขู่เข็ญให้โจทก์ลาออกจากงาน ไม่เคยด่าว่าบุพการีของโจทก์และไม่เคยทิ้งร้างโจทก์ โจทก์มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นและต้องการทอดทิ้งจำเลย โจทก์ไม่มีความประสงค์ที่จะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรตามหน้าที่ จึงหาเหตุฟ้องหย่าซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาว่า จำเลยประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังหรือได้รับความเสียหาย ความเดือดร้อนเกินควร หรือทำร้ายจิตใจ เหยียดหยามต่อโจทก์ หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาอย่างร้ายแรง ตามความในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 หรือไม่ ได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2515 ตามสำเนาภาพถ่ายทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนั้น 3 วัน ได้เดินทางไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้นจำเลยชอบดื่มสุราพูดจาไม่ดีและทำร้ายโจทก์โดยการข่วนและกัด เมื่อกลับมาอยู่ประเทศไทยจำเลยสูบบุหรี่และเสพสุราทุกวันแล้วจะดุด่าโจทก์ว่าไอ้ลูกหมาตัวเมีย ลูกไม่มีพ่อ พวกดูดเครื่องเพศ ทั้งเคยกล่าวดูถูกเหยียดหยามบุพการีโจทก์ จำเลยเคยทำร้ายร่างกายโจทก์หลายครั้งใช้มือทุบต้นคอใช้ที่เขี่ยบุหรี่ทุบปลายเท้าขวาของโจทก์จนแตก และเคยตบหน้าโจทก์อย่างแรง จำเลยชอบติดตามไปนั่งในห้องเรียนที่วิทยาลัยเอแบคซึ่งโจทก์เป็นอาจารย์สอนและตั้งคำถามที่ไม่สมควรต่อโจทก์ โจทก์ถูกรบกวนไม่สามารถทำงานทั้งที่วิทยาลัยและที่บ้านทำให้ขาดความเคารพนับถือจากเพื่อนและนักเรียน โจทก์ต้องการพาเด็กหญิงเจนจิราบุตรของโจทก์จำเลยไปอยู่ที่อื่น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์และบุพการีโจทก์ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความสนับสนุนคงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ส่วนที่นายชวลิต หมื่นนุช พยานโจทก์อ้างว่าจำเลยเคยพูดด่าโจทก์ที่วิทยาลัยว่าไอ้หน้าตัวเมียนั้นนายชวลิตตอบคำถามค้านรับว่าเป็นเพียงได้ยินจากคำบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ คงมีแต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยชอบเสพสุรา สูบบุหรี่และมีพฤติการณ์ติดตามรบกวน ควบคุมตัวโจทก์ขณะสอนหนังสือที่วิทยาลัยเอแบค โดยโจทก์มีเด็กหญิงเจนจิราบุตรสาวและนายแสงชัย แซ่ลี้ กับนายเฟรดเดอร์ริค ลีแบร์ แอเยอร์ซึ่งเป็นนักศึกษาและรองอธิการบดีของวิทยาลัยดังกล่าวตามลำดับเบิกความสนับสนุน แต่ก็ได้ความจากเด็กหญิงเจนจิราว่าจำเลยชอบเสพสุราและสูบบุหรี่เฉพาะในบ้านกับในรถยนต์ และได้ความจากนายเฟรดเดอร์ริคตรงกับเด็กหญิงเจนจิราว่า จำเลยมีความเข้าใจว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นในวิทยาลัยจึงเกิดความหึงหวง เมื่อคำนึงถึงประวัติของจำเลยที่มีบุตรอันเกิดจากสามีเดิม 2 คน สมรสอยู่กินกับโจทก์นานประมาณ 16 ปี ปัจจุบันจำเลยอายุ 45 ปี โจทก์จำเลยต่างมีภาระเลี้ยงดูบุตรและบุตรบุญธรรมรวม4 คน อาจเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความเบื่อหน่ายจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น และจำเลยนำสืบได้ว่าเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนโจทก์ฟ้องคดีจำเลย ตรวจพบว่าโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.1 ให้นางรสรินคนฟิลิปปินส์กับเช็คเอกสารหมาย ล.4 ล.5 ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงให้นางสาวสุนันทาจากบัญชีเงินฝากของโจทก์จำเลยร่วมกัน โดยเฉพาะรายนางสาวสุนันทา มีหลักฐานภาพถ่ายหมาย ล.6 ถึง ล.9 แสดงถึงความใกล้ชิดสัมพันธ์กับโจทก์ ก็ย่อมทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในภาวะเช่นนี้เกิดความหึงหวง คิดมากหวาดระแวง เสพสุรา สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท ทั้งติดตามควบคุมโจทก์ในสถานที่ทำงาน เห็นว่า แม้พฤติการณ์ของจำเลยจะก่อให้โจทก์เกิดความเบื่อหน่ายอับอายในหมู่เพื่อนอาจารย์และนักศึกษา แต่ก็น่าจะเกิดจากความรักหึงหวงหวาดระแวงของจำเลยตามวิสัยสตรีเพศที่เป็นภริยาซึ่งอาจปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ถ้าโจทก์ไม่แสดงความรำคาญใจและฝักใฝ่ในสตรีอื่นให้ปรากฏประกอบกับในชั้นนี้เมื่อจำเลยไม่สมัครใจแยกหย่าตัดความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับโจทก์ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2531 และตามพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะกล่าวได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเดือดร้อนเกินควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องการฟ้องหย่า ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2537

 คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) วรรคสอง บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยได้หมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) บังคับไว้แล้ว ย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ให้ความสนิทสนมกับ ส. มากเกินกว่าที่ผู้บังคับบัญชาทั่วไปจะพึงประพฤติปฏิบัติ ประกอบกับการที่โจทก์จงใจแยกตัวไปอยู่ต่างหากจากครอบครัวย่อมมีเหตุเพียงพอที่จำเลยในฐานะภริยาจะปักใจเชื่อว่าโจทก์และ ส. มีความสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว การที่จำเลยมีหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาผู้บังคับบัญชาของโจทก์โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวระหว่างโจทก์กับ ส. ซึ่งจำเลยเชื่อว่ามีอยู่จริงไว้ด้วยจึงเป็นวิธีการที่จำเลยขวนขวายเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวของตน กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมีบุตรด้วยกัน3 คน มีสินสมรสรวมราคา 480,000 บาท จำเลยหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และให้แบ่งสินสมรสคนละครึ่ง

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำการใด ๆ อันเป็นการทรมานจิตใจโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์สละประเด็นเรื่องขอแบ่งสินสมรส โดยขอยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยและบุตร

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่ว่าจำเลยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) วรรคสองบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ก้าวร้าวไม่มีเหตุผล ไม่ให้ความเคารพยำเกรงโจทก์และญาติผู้ใหญ่ของโจทก์ มักกล่าวถ้อยคำสบประมาทดูหมิ่นเหยียดหยามหรือหมิ่นประมาทโจทก์ บางครั้งก็พาดพิงถึงบุพการีโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเสมอ ๆ การกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงนั้นกระทำได้แม้กระทั่งต่อหน้าข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ และโจทก์ได้บรรยายสรุปไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลย ฯลฯ เป็นการหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีโจทก์ ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ฯลฯ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยได้หมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) บังคับไว้แล้วย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาตามหนังสือขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย จ.3เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ให้ความสนิทสนมกับนางสาวทรัพย์มากเกินกว่าที่ผู้บังคับบัญชาทั่วไปจะพึงประพฤติปฏิบัติ ประกอบกับการที่โจทก์จงใจแยกตัวไปอยู่ต่างหากจากครอบครัวย่อมมีเหตุเพียงพอที่จำเลยในฐานะภริยาจะปักใจเชื่อว่าโจทก์และนางสาวทรัพย์มีความสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว การที่จำเลยมีหนังสือขอความเป็นธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 ไปยังผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวระหว่างโจทก์กับนางสาวทรัพย์ซึ่งจำเลยเชื่อว่ามีอยู่จริงไว้ด้วยในพฤติการณ์ที่จำเลยถูกกดดันด้านการเงินซึ่งโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการกู้เงินจากธนาคารในงวดที่ 2 เพื่อนำมาใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยกับบุตรโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ได้ให้ความยินยอมมาแล้วในงวดที่ 1ตลอดทั้งจำเลยตกอยู่ในภาวะที่อาจจะสูญเสียโจทก์ผู้เป็นสามีไปเช่นนี้จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จำเลยขวนขวายเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวของตนตลอดจนของบุตรผู้เยาว์ของตน กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตามฎีกาของโจทก์

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538

 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ ปี2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้อง คดีนี้ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุ ตามมาตรา 1516 (1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาและทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว ยังแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หย่าขาดกับโจทก์ให้ โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และบุตรทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 10,000,000 บาท และ  20,000,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสอง ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้อุปการะเลี้ยงดู โจทก์และ บุตรทั้งสองด้วยดีตลอดมา แต่ภายหลังขาดการส่งเสียไปบ้าง เพราะจำเลย ที่ 1 ไม่ได้ทำงานประกอบกับเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทหึงหวงระหว่าง โจทก์ กับ จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ไม่อาจอยู่กินร่วม กับโจทก์ได้อีกต่อไป จึงออกจากบ้านไปอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ฉันสามี ภริยา โดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 ยินยอมหย่าขาดจาก โจทก์และ ยอมให้โจทก์ เป็น ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้ง สองแต่ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์และบุตรทั้งสอง ที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (1), 1523 วรรคแรก ประกอบ กับ มาตรา 1529 เพราะขาดอายุความแล้ว ขอให้ ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ เดือน ละ 2,000 บาท นับแต่เดือน มกราคม 2529 จนถึง วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้ หย่าขาดและ จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง คน ละ 2,500 บาท ต่อ เดือนนับแต่ เดือน มกราคม 2529 จนกว่าบุตรทั้งสอง จะบรรลุนิติภาวะ โดยจ่ายให้บุตรคนโตเพียง วันที่ 28 มิถุนายน 2533 ซึ่งเป็นวันบรรลุนิติภาวะกับ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์คนละ 150,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้ แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้มีความสัมพันธ์ กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ ปี 2528 ตลอดมาจน ถึง วันที่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ลักษณะ การกระทำของจำเลยที่ 2 ได้ กระทำต่อเนื่องกันมา ยังมิได้หยุดการกระทำการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ปัญหาข้อสุดท้าย มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ คดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ กับจำเลยที่ 1 สามีของโจทก์ ในทำนองชู้สาว โดยโจทก์มิได้ ยินยอม หรือ รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดู หรือ ยกย่อง จำเลยที่ 2 ฉันภริยาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทน จากจำเลยที่ 2 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือ ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะ เหตุ ตาม มาตรา 1516(1) ตามที่บัญญัติ ไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก หรือไม่

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2538

 จำเลยกู้ยืมเงินคนอื่นเพื่อใช้จ่ายในคดีที่โจทก์ถูกจับฐานพกอาวุธปืนและเพื่อใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหนี้สินทั้งหมดจึงเกิดจากการนำมาใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยและบุตรมิใช่เกิดขึ้นเพราะจำเลยนำไปเล่นสลากกินรวบดังที่โจทก์อ้างการกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(2) การที่จำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจึงด่าโจทก์และบุพการีว่ามึงมันเลวเหมือนโคตรมึงนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรงเพราะเป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้นถือว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสามีภริยาทั่วไปไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(3) หลังจากทำทัณฑ์บนแล้วโจทก์ยังมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจำเลยจึงดุด่าและทำร้ายโจทก์อีกการกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(8)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยมีบุตร 1 คน เมื่อต้นปี 2534 จำเลยเริ่มประพฤติตนไม่สมควร โดยกู้เงินบุคคลอื่นหลายรายรวมเป็นเงิน 160,000 บาท แล้วไม่ชำระ เจ้าหนี้ดังกล่าวทวงถามจากโจทก์ โจทก์ ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงต้องใช้หนี้ทั้งหมดแทนจำเลย นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2535จำเลยได้ฉีกทำลายเสื้อผ้าของโจทก์ใช้ข้าวของ ขว้างปาทำร้ายโจทก์กับหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์ โจทก์ทน อยู่กินกับจำเลยไม่ได้ ต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อน จำเลยก็ใส่ความว่าโจทก์ไปติดพันหญิงอื่น ครั้นโจทก์กลับบ้าน จำเลยก็อาละวาด ด่าทอและ ใช้มีดขู่บังคับมิให้โจทก์ ออกจาก บ้าน โจทก์ จึง ไป ร้องทุกข์ ต่อ พนักงานสอบสวนเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม 2535 จำเลยได้ทำทัณฑ์บน ต่อโจทก์ว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก แต่จำเลยก็ประพฤติผิดทัณฑ์บน ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ไปก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2522 โจทก์ถูกจับกุมเรื่องมีอาวุธปืน และอ้างว่าต้องเสียค่าใช้จ่าย 50,000 บาท ให้จำเลยหาเงินให้ด้วย จำเลยต้องไปกู้เงินจากบุคคลอื่น เสียดอกเบี้ยในอัตราสูงเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่โจทก์ กลับเที่ยวเตร่ดื่มสุราจำเลยต้องรับภาระอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาบุตรแต่เพียงผู้เดียวจึงต้องกู้เงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 160,000 บาท ครั้นประมาณเดือน มกราคม 2535 โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับ นางสาว อารีย์ เมื่อ จำเลยทราบและห้ามปราม โจทก์ก็แสดงกิริยาเกรี้ยวกราดและไม่ยอมกลับบ้าน จำเลยไม่เคยทำร้ายหรือทรมานร่างกาย หรือ จิตใจโจทก์ไม่เคยหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์ แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2514 ตามใบสำคัญการสมรส เอกสารหมาย จ. 1 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางสาว ญ. ซึ่ง ขณะฟ้องมีอายุ 21 ปี โจทก์รับราชการเป็นลูกจ้างประจำโครงการก่อสร้างทางชลประทาน ที่ 2 อำเภอ สามชุก จังหวัด สุพรรณบุรี จำเลยรับราชการครู ที่จังหวัด ชัยนาท ต่อมาโจทก์และจำเลยมีเรื่องทะเลาะ กันและทำร้ายร่างกายกัน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้แล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่าจำเลยประพฤติชั่ว โดยจำเลยกู้ยืมเงินคนอื่นหลายคนเป็นจำนวนมากรวมแล้ว ประมาณ 160,000 บาท โดยกู้มาเล่นสลากกินรวบแล้วไม่ชำระให้จนผู้ให้กู้มาทวงจากโจทก์ และโจทก์ต้องชำระแทนไปทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ถูกดูถูกเกลียดชัง และ ได้รับความ เดือดร้อน เห็นว่า เหตุที่จำเลยไปกู้เงินคนอื่นมา เช่น ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ. 2 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2533 หมาย จ. 5 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 และ หมาย จ. 7 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 รวม 160,000 บาท นั้น ล้วนแต่เป็นการกู้ยืมหลังจากวันที่ 10 ตุลาคม 2522 ซึ่ง โจทก์ มีหนังสือถึงจำเลย ตามเอกสารหมาย ล. 1 ที่โจทก์ถูกจับฐานพกอาวุธปืน และ ศาลพิพากษาลงโทษปรับ 2,000 บาท โดยในเอกสารหมาย ล. 1 โจทก์ให้จำเลยช่วยเรื่องการประกันตัวนั้นจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้ไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาเพื่อใช้จ่ายในคดีนี้ซึ่งจำเลยได้เบิกความประกอบ เอกสารหมาย ล. 1 ว่า จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นจำนวน 58,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้ ได้ยืมคนอื่น 30,000 บาท ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อยมา และต่อมาโจทก์ได้ให้จำเลยลงชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ. 2 จ. 5 และ จ. 7 ไว้ นอกจากนั้น เมื่อนางสาว ญ. เริ่มเรียนหนังสือสูงขึ้นก็มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้น จำเลยคงได้กู้ยืมเงินคนอื่นมาใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของนางสาว ญ. ด้วย ดังที่จำเลยได้ระบายความในใจให้ นาย คนึง นาคเถื่อน ฟังในจดหมาย เอกสารหมาย จ. 4 ลงวันที่ 30 เมษายน 2534 ว่าได้กู้เงินมาเพื่อให้บุตรเรียนหนังสือและมีแต่จำเลยเป็นฝ่ายให้สามี จำเลยไม่เคยได้รับอะไรจากสามีและ ในจดหมาย เอกสารห มาย จ. 8 ก็ระบุ กู้ยืมเงินมาเพื่อการศึกษาของบุตรเป็นต้น หนี้สินทั้งหมดจึงเกิดจากการนำมาใช้จ่ายในครอบครัว ระหว่างโจทก์ จำเลยและบุตร มิใช่เกิดขึ้นเพราะจำเลยนำไปเล่นสลากกินรวบดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่ว

โจทก์ฎีกาในข้อที่ 2 ว่า จำเลยดุด่าเหยียดหยาม หมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์และจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์อย่างร้ายแรงโดยจำเลยฉีกเสื้อผ้าโจทก์ ด่าว่าโจทก์และหมิ่นประมาทโจทก์และผู้บุพการี ของโจทก์ ต่อหน้าบุคคลอื่น ๆ และใช้กรรไกรทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องหนีไปอยู่กับเพื่อนแล้วไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้ ตาม เอกสารหมาย จ. 15 ถึง จ. 17 เห็นว่า ที่จำเลยกระทำต่อโจทก์เช่นนั้น ก็ เพราะจำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่น ดังปรากฏอยู่ใน เอกสารหมาย ล. 2 และ ล. 3 นั้นซึ่ง นางสาว ญ. ได้ เบิกความว่า จำเลยโกรธโจทก์เพราะโจทก์ไปมีความ สัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่น และที่โจทก์อ้างว่าจำเลยด่าโจทก์และ บุพการี ว่ามึงมันเลวเหมือนโคตรมึง โจทก์ก็ยอมรับว่าจำเลยด่าโจทก์เพราะหาว่าโจทก์ไปติดพันนางสาว อารีย์ หากถ้อยคำดังกล่าวเป็น ความจริงก็ไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรง เพราะเป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์เป็นผู้ก่อ ขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสามี ภริยาทั่วไปไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า จำเลยประพฤติผิดทัณฑ์บน เรื่องความประพฤติที่ทำให้ ไว้ตามบันทึกการแจ้งความ เอกสารหมาย จ. 16 และ จ. 17 โดยหลังจากทำเอกสารหมาย จ. 16 และ จ. 17 แล้ว จำเลย ยังทำการด่าทอ และทำร้ายโจทก์อยู่อีก เห็นว่า หลังจากที่มีการทำบันทึกการแจ้งความ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2535 และ วันที่ 7 เมษายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ. 16 และ จ. 17 ตามลำดับ แล้ว ปรากฏว่ามี บันทึกข้อความใน เอกสารหมาย ล. 3 ลงวันที่ 15 เมษายน 2535 ว่าฝ่ายหญิงที่อ้างว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จะเลิกประพฤติปฏิบัติไม่มีความสัมพันธ์กับโจทก์อีก โดยเอกสารนี้โจทก์มิได้คัดค้าน ว่าไม่จริงอย่างไร จึงแสดงว่า หลังจากทำบันทึกเอกสารหมาย จ. 16 และจ. 17 แล้ว โจทก์ก็ยังไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับผู้หญิงคนนั้นอยู่อีก จำเลยจึงได้ดุด่า และทำร้ายโจทก์อีก การกระทำของจำเลยจึงมี สาเหตุมาจาก การกระทำของโจทก์อีกเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิด ทัณฑ์บน ที่ให้ไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ. 16 และ จ. 17 การกระทำทั้งหมดของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาจึงยังไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(3) และ (8) ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ ฟังไม่ขึ้น "

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5196/2538

 โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า3ปีแต่การแยกกันอยู่นั้นมิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลยเป็นเพียงลำพังความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวจึงหาทำให้โจทก์เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(4/2)ไม่

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ระหว่างสมรสได้ซื้อที่ดินเป็นสินสมรส 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9296 เลขที่12424 และ เลขที่ 43834 รวม ราคา 1,100,000 บาท ตั้งแต่ ปี 2528เป็นต้นมา จำเลยก่อหนี้สินไว้กับบุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก และมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับญาติพี่น้องโจทก์เป็นประจำ จนกระทั่งกลางปี 2530 โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงสมัครใจแยก กันอยู่ โดยไม่ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 4 ปี แล้ว ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และแบ่งสินสมรสแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ในต้นเงิน ดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์อยู่กินเป็นสามี ภริยากัน ตั้งแต่ ปี 2517 โจทก์รับราชการอยู่ต่างจังหวัดหลายจังหวัด ส่วนจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรทั้งสาม อยู่ที่บ้าน โดยโจทก์เป็นฝ่ายไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนจำเลยและบุตรตลอดมา จนตั้งแต่ ปี2530 โจทก์ไม่ได้มาเยี่ยมเยียนจำเลยและบุตร ตามปกติ โดยไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น โจทก์เป็นฝ่ายทอดทิ้งจำเลย การที่โจทก์ไม่ไปมาหาสู่จำเลย เป็นการกระทำโดยความสมัครใจของโจทก์  จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใด ที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 12424 เท่านั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 9296 เป็นของบิดา จำเลย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่43834 มีชื่อนาง จินดา พี่สาวโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงมิใช่สินสมรส ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์ แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ จำเลย จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2517 มี บุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางสาว จรรยารักษ์  อายุ 16 ปี เศษ เด็ก ชาย วุฒิศักดิ์  อายุ 14 ปี เศษ และ เด็ก ชาย สิริวัฒน์ อายุ 13 ปี เศษ โจทก์มีอาชีพรับราชการที่องค์การสวนยางสมรสแล้ว โจทก์ต้องย้ายไปรับราชการต่างจังหวัดตามลำพัง ส่วนจำเลยไม่ได้ติดตามไปอยู่ด้วย คงพัก อาศัยอยู่ที่ ตำบล ท่าวัง อำเภอ เมือง นครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช และ เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรทั้งสาม โดยจำเลยประกอบอาชีพค้าขาย และรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าช่วยเหลือครอบครัวด้วย โจทก์จะเป็น ผู้ กลับมาเยี่ยมเยียนดูแลจำเลยและบุตรเป็นประจำ โจทก์ไม่เคยย้ายมาประจำอยู่ที่จังหวัด นครศรีธรรมราช เลย ครั้งสุดท้ายย้ายกลับมาประจำที่จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2525 ต่อมาโจทก์ไม่ค่อยกลับไปหาจำเลยตาม ปกติ จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์ไปติดพันนาง จารีย์ ซึ่งรับราชการครู สังกัดสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดกระบี่ ฉันชู้สาวและจำเลยได้ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อผู้บังคับบัญชาทั้งของโจทก์และของนาง จารีย์ ด้วย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์กับจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือไม่ โจทก์มีพยาน คือตัวโจทก์เบิกความ ว่า ชีวิตสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเลย ตั้งแต่ปี 2525 เพราะจำเลยไม่ยอมติดตามไปอยู่ด้วยกันกับโจทก์ โดยไม่มีเหตุผล กลับก่อหนี้สินเป็นภาระแก่ครอบครัว มากมาย โจทก์ตักเตือนห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟังโจทก์ กับพี่สาว ต้องรับภาระผ่อนชำระหนี้แทน ต่อมากลางปี 2530 โจทก์จำเลยจึงแยกกันอยู่โดยไม่ได้จดทะเบียนหย่า ฝ่ายจำเลยอ้างว่าได้ตกลงกับโจทก์ให้ จำเลยอยู่บ้านเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ติดตามโจทก์ไปแต่โจทก์จะเป็นฝ่ายมาเยี่ยมเยียนจำเลย และบุตร เมื่อโจทก์ย้ายกลับมาประจำอยู่ที่จังหวัดกระบี่ จนกระทั่งปี 2530 โจทก์เริ่มกลับมาหาจำเลยบ้างไม่มาบ้าง ค่า อุปการะเลี้ยงดูที่เคยส่งให้ประจำ ก็กลายเป็นส่งบ้างไม่ส่งบ้าง เพราะโจทก์ไปติดพันนาง จารีย์ จำเลยกับโจทก์ได้ ทะเลาะกัน ต่อมาปี 2532 โจทก์มักจะมาหาแต่บุตร ไม่ค่อยมาหาจำเลยอีกเห็นว่า โจทก์คงมีแต่ ตัวโจทก์เป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันถึงข้อบกพร่องเสียหายของจำเลย อันเป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นที่ไม่อาจจะอยู่กินด้วยกันได้ต่อไปและแยกกันอยู่ในที่สุด ซึ่งก็เป็นคำเบิกความ ลอย ๆ ปราศจากหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ส่วนจำเลย นอกจากจำเลยจะปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์แล้วยังนำสืบสาเหตุความบาดหมาง ระหว่างโจทก์ จำเลยว่ามาจากโจทก์เองที่ประพฤติชั่วไปติดพันนาง จารีย์ ฉันชู้สาว จำเลยขอร้องให้โจทก์เลิกติดต่อกับนาง จารีย์ โจทก์ก็ไม่ยินยอมซึ่งความข้อนี้ จำเลยมีนาย รังสรรค์ เรืองจรัส เพื่อนร่วมงานของโจทก์เป็นพยาน เบิกความสนับสนุนว่า โจทก์มีความสัมพันธ์กับนาง จารีย์ ตั้งแต่ปี 2530 จริงและมีพันตำรวจเอก บรรพต  อาของโจทก์ พยานจำเลยอีกปากหนึ่ง เบิกความยืนยันว่า เมื่อปี 2532 จำเลยเคยมาปรึกษาเพราะมีปัญหาครอบครัว เนื่องจากโจทก์ไปติดพันนาง จารีย์ ซึ่งพยานก็เคยเรียกโจทก์มาพบและชี้แจงให้โจทก์คิดถึงบุตรบ้างนาย รังสรรค์ เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และมีความสนิทสนมกับโจทก์และครอบครัวเป็นอย่างดี พันตำรวจเอก บรรพตเป็นญาติสนิทและญาติ ผู้ใหญ่ของโจทก์ ต่างมีความหวังดีและห่วงใยต่อครอบครัวของโจทก์ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ ต่อกัน น่าเชื่อว่าพยานทั้งสองปากดังกล่าวต่างได้เบิกความไปตามความเป็นจริง จึงรับฟังสนับสนุนข้ออ้างของ จำเลยที่ว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยนั้น มาจากตัวโจทก์เป็นเหตุ หาใช่มาจากจำเลยไม่ โจทก์ฎีกาอ้างพยานคำเบิกความของจำเลย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1019/2534 ของศาลชั้นต้น ตามเอกสารหมาย จ. 5 ว่าจำเลยยอมรับว่า ขณะเบิกความนั้นจำเลยกับโจทก์แยกกันอยู่มาประมาณ 3 ปี แล้วจึงเป็นพยานสำคัญที่ยืนยันว่าจำเลยกับโจทก์แยกกันอยู่โดยต่างตกลงกันที่จะยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาต่อกัน อันเนื่องมาจากความไม่ปกติสุขในชีวิตสมรสนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ. 5 ที่โจทก์อ้างดังกล่าว มีเพียงว่าขณะเบิกความนั้น จำเลยกับโจทก์แยกกันอยู่ และแยกกันอยู่มาประมาณ 3 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าเท่านั้น มิได้มีข้อความใดที่ระบุยืนยันว่าที่จำเลยกับโจทก์แยกกันอยู่เป็นการแยกกันด้วยความสมัครใจของ จำเลยด้วยเลยและถ้อยคำของจำเลยที่เบิกความเช่นนั้นก็เป็นการเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ต้องแยกกันอยู่โดยสภาพ ครอบครัวที่โจทก์ต้องย้ายไปรับราชการตามจังหวัดต่าง ๆ ที่จำเลยมิได้ติดตามไป ด้วยซึ่งโจทก์มีหน้าที่ ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา เมื่อโจทก์ไม่ยอมกลับมาเยี่ยมจำเลยและบุตรอีก การแยกกันอยู่ตามสภาพเดิมก็เปลี่ยนเป็นแยกกันอยู่อย่างจริงจังไป แต่กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็น การแยกกันโดยความสมัครใจของจำเลยด้วยหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังรักใคร่ หึงหวงในตัวโจทก์อยู่จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของ นาง จารีย์ ทั้งในระดับต้นและระดับสูง ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2533 และ วันที่ 16 กรกฎาคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล. 3 และโจทก์ก็ยังเบิกความ รับว่าจำเลยได้ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์เองด้วย ซึ่งเห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยมิได้สมัครใจที่จะแยกทาง กับโจทก์แต่อย่างใด แต่กลับแสดงให้เห็นว่า จำเลยยังคงคาดหวังที่จะให้โจทก์กลับมาอยู่กินฉันสามี ภริยาเพื่อความสุขความอบอุ่นในครอบครัวต่อไป ส่วนผลของข้อร้องเรียนของจำเลยจะเป็นไปในลักษณะใด โจทก์จะไปติดพันนาง จารีย์ ฉันชู้สาวจริงหรือไม่ ย่อมจะไม่ทำให้ความรักความหึงหวงของจำเลยที่มีต่อโจทก์ เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าว คงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์กับจำเลย แยกกันอยู่มา

กว่า 3 ปีจริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย การที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่เช่นนี้ก็โดยลำพังความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว หาทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2)ไม่ พยานหลักฐานของจำเลย มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่า พยานหลักฐานของโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น "

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2539

 โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลยเพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดังโจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(4/2) การที่จำเลยจะ เรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีจำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อมาโจทก์และจำเลยมีปัญหาต้เถียงกันอย่างรุนแรงไม่สามารถที่จะตกลงอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขจึงแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ เป็นเวลา 20 ปี โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไป ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันโดยให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์

จำเลยให้การ และฟ้องแย้งว่าหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วโจทก์และจำเลย พักอาศัยอยู่ที่บ้านบิดามารดาโจทก์ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านมารดาจำเลย เมื่อ 7 ถึง 8 ปี ผ่านมา จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 489 โจทก์ จำเลยและบุตรทั้ง 5 ย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่จนกระทั่งประมาณ 4 ถึง 5 ปีมานี้ โจทก์ประพฤติมิชอบ ให้การอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา แต่โจทก์ก็ยังไปมาหาสู่จำเลยและให้ความอุปการะเลี้ยงดู จำเลยเรื่อยมาจนกระทั่ง ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูจำเลย ทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก เหตุในการหย่ามิใช่ความผิดของจำเลยเป็นความผิดของโจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยมีโรค ประจำตัว ข้อเท้าเสื่อมไม่ได้ประกอบอาชีพ และโจทก์มีรายได้สูงมาก ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย เดือน ละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยโต้เถียงกันเรื่อยมาโจทก์และบิดาจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ ตำบล บางด้วน อำเภอ เมือง สมุทรปราการ และแม้โจทก์ไม่ได้อยู่กินกับจำเลย แต่โจทก์ได้ส่งเสีย เลี้ยงดูจำเลยและครอบครัวเรื่อยมา ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จทก์ จำเลยหย่ากัน ให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษาแก้ เป็นว่าให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2512 อยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 19 หมู่ ที่ 6 ตำบล บางด้วน อำเภอ เมือง สมุทรปราการ จังหวัด สมุทรปราการ ต่อมาโจทก์และจำเลยย้ายไปอยู่ตำบล บางปูใหม่ อำเภอ เมือง สมุทรปราการ จังหวัด สมุทรปราการ ประมาณปี 2516 ถึง 2519 โจทก์ออกจากบ้านกลับไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 19 หมู่ ที่ 6 ตำบล บางด้วน อำเภอ เมือง สมุทรปราการ จังหวัด สมุทรปราการ เนื่องจากทะเลาะวิวาทกับจำเลย ต่อมาประมาณปี 2520 โจทก์และจำเลยตกลงไปจดทะเบียนหย่าที่ อำเภอ แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร คนละ 25,000 บาทแก่จำเลย ตามที่ทางอำเภอไกล่เกลี่ย จึงไม่ได้จดทะเบียนหย่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยาน เบิกความว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยนำไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินบิดาจำเลย ที่ตำบล บางปูใหม่ เมื่อปลูกสร้างเสร็จ โจทก์ จำเลยและบิดาโจทก์ เข้าพักอาศัย บ้านที่ปลูกสร้างใหม่นี้อยู่ติดกับบ้านบิดาจำเลย บิดาจำเลยชอบดื่มสุราเมาอาละวาด โจทก์พยายามตักเตือนและห้ามปราม แต่บิดาจำเลยไม่เชื่อฟัง ในที่สุดโจทก์จึงนำ บิดาโจทก์ ซึ่งเป็นโรคหัวใจกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ตำบล บางด้วน ตั้งแต่ปี 2516 จำเลยไม่ได้ตามไปด้วย ส่วนจำเลย มีตัวจำเลยเป็นพยาน เบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2519 โจทก์เริ่มติดพันหญิงอื่น และไม่ค่อย กลับบ้าน ในที่สุดโจทก์ออกจากบ้านที่อยู่กินกับจำเลยไป และจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า บิดาโจทก์ช่วยออกเงินปลูกสร้างบ้านใหม่และมาอยู่ด้วยไม่ถึงปีก็กลับไปอยู่บ้านเดิมที่ ตำบล บางด้วน บิดาจำเลย ดื่มสุรา ป็นประจำ แล้วชอบส่งเสียงดัง แต่ไม่เคยมีเรื่องกับใคร เมื่อจำเลยกับโจทก์ทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง จึงตกลงที่จะไปจดทะเบียนหย่า ศาลฎีกาเห็นว่าพยานจำเลย เจือสมพยานโจทก์ว่าโจทก์ออกจากบ้าน ที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลย เพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัว ใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลย ซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดัง ได้ความต่อไปว่า โจทก์และจำเลย ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน แต่หย่า ไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าว น่าเชื่อว่า โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา และการ แยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(4/2) ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยสมควรได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่าย ค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว ดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกัน อยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี จำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้ ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น "

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดี หย่านั้น

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2540

 การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยนั้นเป็นเพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขยังอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่นจนกระทั่งปัจจุบันจึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยตลอดไปการกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(6)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรส ได้ทำมาหากินร่วมกันมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2947 มีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยละทิ้งโจทก์ไปได้หญิงอื่นเป็นภริยาและมีบุตรด้วยกันเป็นเวลาประมาณ8 ถึง 9 ปี เป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างชัดแจ้ง มีเหตุฟ้องหย่าขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นให้โจทก์มีสิทธิรับเงินกึ่งหนึ่งจากการบังคับคดีที่ดินแปลงดังกล่าว

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันจำเลยมิได้จงใจละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์ขอแยกบ้านไปอยู่ต่างหากและยินยอมให้จำเลยมีภริยาใหม่ได้ โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย และถอนฟ้องโดยให้อภัยแก่จำเลยมาแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่ดินขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2493 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2528จำเลยไปได้นางมีเป็นภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน โจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 781/2528 คดีหมายเลขแดงที่1027/2528 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไป รวมทั้งห้ามนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องไปปรากฎว่าหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีก่อนแล้ว จำเลยยังคงอยู่ร่วมกับนางมีฉันสามีภริยาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน เห็นว่า การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยนั้น ก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขยังอยู่กินฉันสามีภริยากับนางมีต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยตลอดไปตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(6) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปไม่เกิน 1 ปีแล้วหรือไม่ อันเป็นเหตุฟ้องหย่าอีกข้อหนึ่งนั้นต่อไปอีก โจทก์ย่อมฟ้องหย่าจำเลยได้"

พิพากษายืน

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2541

 คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลังได้เสียกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์อีก แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่ คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นซึ่งคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว ก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้จึงชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจาก ทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็น ผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้สมาคมฯ จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นสามีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ร่วมประเวณีกันเกิดบุตรคือจำเลยที่ 2 และศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องไม่รับจำเลยที่ 2เป็นบุตรในคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำเหตุที่จำเลยที่ 1 ไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพราะโจทก์ไม่ยอมอุปการะเลี้ยงดูจำเลยทั้งสองและโจทก์ดำเนินคดีฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 กับฟ้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะมาแล้วถึง 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 ยังรักและห่วงใยโจทก์ไม่ต้องการหย่ากับโจทก์ แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 และเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิเบิกเงินช่วยเหลือบุตรจากทางราชการขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2นับแต่แรกเกิดจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 200,000 บาท กับจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 อีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะ และให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และอีกเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะกับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522จำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2523 ระหว่างที่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์และศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างข้อเท็จจริงใหม่ที่จะพิสูจน์ตามหลักทางแพทย์ คือระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ. เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยถูกต้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2538 เพื่อประกอบการนำสืบในข้อดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มีอยู่และต้องนำสืบเพื่อประโยชน์ของโจทก์โจทก์เพิ่งทราบเมื่อศาลชี้สองสถานแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ นั้นเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ภายหลงได้เสียกับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เกิดแต่จำเลยที่ 1 ขณะเป็นภริยาโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุตรโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เฉพาะประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2มิใช่บุตรโจทก์นั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่3471/2526 ของศาลฎีกา ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 2เป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างพยานหลักฐานใหม่คือ ระบบการตรวจเลือด ดี.เอ็น.เอ.เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโจทก์หรือไม่ ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่เพื่อนำสืบในประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526ของศาลฎีกา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยมาแล้วในคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3471/2526 ของศาลฎีกาดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ดังนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก็หาอาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว

ที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 1ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นการประพฤติชั่วทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงถูกดูถูกเกลียดชังเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ นั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์ เพราะประสงค์จะได้เงินเดือนโจทก์ครึ่งหนึ่ง และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยที่ 2ร้องเรียนต่อสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ว่า โจทก์ไม่เลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรซึ่งรองศาสตราจารย์วิมลศิริ ชำนาญเวช นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 12 ได้ขอให้ทางสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปภัมภ์ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิสามีเป็นผู้เบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร แต่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ร้องต่อศาลขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวเพื่อใช้สิทธิเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตรจากทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ดังกล่าวเป็นการร้องขอความช่วยเหลือตามสิทธิแห่งกฎหมาย ซึ่งสืบเนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หาได้เป็นประการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ไม่

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2541

 บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรงโดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะ ไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกัน และโจทก์ยอมจ่ายเงิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่ โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้น แม้จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลย ก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลย นับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ ก็ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะ แยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขตลอดมาเป็นเวลาเกินสามปีแล้ว ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยต้องแยกกันอยู่เนื่องจากโจทก์มีภริยาใหม่ ละทิ้งให้จำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรแต่ลำพังผู้เดียวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี ในปี 2535 จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์เพื่อให้โจทก์หย่ากับจำเลยและชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรโดยจำเลยประสงค์จะดำเนินการฟ้องหย่ากับโจทก์และดำเนินคดีโจทก์ฐานแจ้งความเท็จที่โจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อนกับภริยาคนใหม่ด้วยโจทก์กับจำเลยตกลงกันไม่ได้เรื่องการหย่า แต่โจทก์กลัวจะได้รับโทษทางอาญาจึงตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยทำบันทึกข้อตกลงกันขึ้นซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าจะสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายทิ้งร้างไปจากจำเลยอยู่แล้วเพียงแต่บันทึกยินยอมที่โจทก์จะชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเท่านั้นหลังจากนั้นโจทก์ส่งเงินให้บุตรเพียงบางเดือนแล้วไม่ได้ส่งให้อีกเลย จำเลยมิได้สมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรง โดยเฉพาะในข้อ 1 ซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกันและโจทก์ยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นอกจากนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่า จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ หรือแปลสาเหตุการทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ว่าเกิดจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันด้วยเหตุที่โจทก์ได้นางบุญทยาเป็นภริยาอีกคนหนึ่งจนจำเลยประสงค์จะหย่าจากโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้นแม้จะได้ความจากจำเลยว่า จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์จำเลยก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไปอยู่กับนางบุญทยาเช่นเดิมโดยจำเลยไม่ติดใจเรื่องหย่ากับโจทก์หรือฟ้องร้องนางบุญทยาตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น และในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อใดที่ระบุห้ามมิให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยนับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้นซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้

พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2542

 การที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและ ค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรส โดยเป็น ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม,1439 และ 1440(2) เมื่อปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคือจากจำเลยได้เพราะมิใช่กรณี จำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยทำพิธีแต่งงานตามประเพณี จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมอยู่กิน ด้วยกันแล้ว เมื่อสาเหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกัน เป็นเรื่องเงินทองภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั่วไป มิใช่เป็นสาเหตุร้ายแรงและสามารถปรับความเข้าใจ ระหว่างกันได้ แต่กลับได้ความว่า โจทก์ไปอยู่ที่บ้านสวน ของโจทก์โดยไม่ยอมกลับไปหาจำเลย แม้โจทก์จะมีวันหยุด ในวันอาทิตย์ว่างอยู่ แต่ก็อ้างว่าจะต้องซักผ้าและ ทำธุระส่วนตัว หากโจทก์จะไปพบจำเลยบ้างในวันธรรมดา เป็นบางครั้ง โจทก์ก็อาจกระทำได้เพราะโจทก์เคยอยู่บ้านจำเลย และเคยไปทำงานโดยไปกลับมาแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ขวนขวาย ที่จะกระทำดังกล่าวหรือชักชวนให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะฟ้องหย่า

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยส่งใบสำคัญการสมรสที่จำเลยถือไว้ 2 ฉบับ คืนโจทก์ 1 ฉบับ ให้จำเลยใช้เงินค่าสินสอดทองหมั้น 20,000 บาท และเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงาน 3,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทิ้งร้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินสอดและเงินใช้จ่ายในงานแต่งงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในการแต่งงานหรือไม่ จำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าสินสอดทองหมั้นและเงินที่ใช้จ่ายไปในการแต่งงานนั้นไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 และได้บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 3 ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2539 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยโจทก์จ่ายเงินค่าสินสอดทองหมั้นเป็นเงิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการแต่งงานอีกเป็นเงิน 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงาน 23,000 บาท ฯลฯ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยพฤติการณ์ตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 4 มาแล้ว ในคดีหมายเลขแดงที่ 91/2540 ของศาลนี้ ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ โจทก์จึงจะมาฟ้องโดยอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวอีกไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้อน จึงไม่รับฟ้องในข้อ 1 ถึงข้อ 4 ส่วนฟ้องโจทก์ตามข้อ 5 เป็นเหตุฟ้องหย่าที่เกิดขึ้นใหม่ โจทก์อ้างเหตุดังกล่าวฟ้องหย่าจำเลยได้ แต่เนื่องจากฟ้องโจทก์ฟุ่มเฟือยเกินไปอ่านไม่เข้าใจ ให้โจทก์ทำคำฟ้องโดยอ้างเหตุเฉพาะข้อ 5 มายื่นต่อศาลใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำฟ้อง โจทก์จึงทำคำฟ้องลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2540ยื่นเข้ามาใหม่โดยนำเหตุฟ้องหย่าตามข้อ 5 มาขยายความและตัดฟ้องโจทก์ข้อ 3 ในส่วนการบรรยายเรื่องค่าสินสอดทองหมั้นและเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงานไปตามคำสั่งศาล แต่ยังคงคำขอให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินสอดทองหมั้น 20,000 บาท และเงินที่ใช้จ่ายไปในการแต่งงาน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,000 บาท ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ดังนั้น ในการแปลคำฟ้อง โจทก์จึงจำต้องอ่านคำฟ้องเดิมและคำฟ้องใหม่ของโจทก์ประกอบกัน เมื่อโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องค่าสินสอดทองหมั้นและเงินค่าใช้จ่ายในการแต่งงานไว้ในฟ้องเดิมข้อ 3 แล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรสโดยเป็นความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 วรรคสาม, 1439 และ 1440(2) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้เพราะมิใช่กรณีจำเลยผิดสัญญาหมั้นตามบทกฎหมายดังกล่าว

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปีอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่นั้น โจทก์และจำเลยเบิกความยันกันอยู่ฟังไม่ได้ข้อยุติว่าการที่โจทก์ออกจากบ้านของจำเลยที่อาศัยอยู่กินร่วมกันนั้นเกิดจากการที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านหรือเกิดจากการที่โจทก์ไปพักอาศัยที่บ้านสวนเพื่อความสะดวกในการไปทำงานของโจทก์กันแน่ แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภรรยาโดยทำพิธีแต่งงานตามประเพณี จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมอยู่กินด้วยกันแล้ว โดยเหตุผลแม้จะมีเรื่องทะเลาะกันรุนแรงเพียงใด หากมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดแล้วย่อมที่จะให้อภัยโดยต่างฝ่ายต่างผ่อนปรนให้แก่กันได้ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า สาเหตุที่ทะเลาะกันเป็นสาเหตุเรื่องเงินทองภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไปจึงมิใช่เป็นสาเหตุร้ายแรงและสามารถปรับความเข้าใจระหว่างกันได้ แต่กลับได้ความว่า โจทก์ไปอยู่ที่บ้านสวนของโจทก์โดยไม่ยอมกลับไปหาจำเลย แม้โจทก์จะมีวันหยุด ในวันอาทิตย์ว่างอยู่ก็ตาม โดยอ้างเหตุผลว่าจะต้องซักผ้าและทำธุระส่วนตัวเท่านั้น และหากโจทก์จะไปพบจำเลยบ้างในวันธรรมดาเป็นบางครั้ง ซึ่งโจทก์อาจกระทำได้เพราะโจทก์เคยอยู่บ้านจำเลยและเคยไปทำงานโดยไปกลับมาแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ขวนขวายที่จะกระทำดังกล่าวหรือชักชวนให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งโจทก์ดังอ้าง โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะฟ้องหย่าคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2542

 การที่จำเลยไปเที่ยวกับผู้ชายในเวลากลางคืนโดยไม่ได้ความชัดว่าจำเลยประพฤติตนเช่นนั้นเป็นปกติวิสัยหรือไม่ ชายที่จำเลยไปด้วยมีความสัมพันธ์กับจำเลยเกินกว่าปกติธรรมดาหรือไม่ และจำเลยไปกับชายดังกล่าวเพียงลำพังสองต่อสองหรือไม่ จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว อันจะเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(2) โจทก์เป็นฝ่ายขอย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัดตามความประสงค์ของโจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยยังคงอยู่ที่บ้านที่เป็นของโจทก์และจำเลยปลูกสร้างตามเดิมจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไป เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์และให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปี 2525 โจทก์กับจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาในปี 2534 โจทก์แยกกันอยู่กับจำเลยเนื่องจากมีสาเหตุขัดแย้งกันภายในครอบครัว ปี 2536 โจทก์ขอย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษและนำเด็กหญิงนัยนันท์บุตรสาวไปอยู่ด้วย ส่วนบุตรชายคนโตยังคงอยู่กับจำเลยที่บ้านเลขที่ 88 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตย กิ่งอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินของมารดาจำเลยตั้งแต่อยู่กินเป็นสามีภริยาด้วยกัน ในปัญหาว่ามีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) หรือไม่นั้นพยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าตั้งแต่ปี 2534 จำเลยประพฤติตนคบเพื่อนชายเที่ยวเตร่เวลากลางคืนดื่มสุราและของมึนเมา เล่นการพนันและไม่เอาใจใส่ครอบครัถือได้ว่าจำเลยประพฤติชั่ว นางสุดใจ อินทนนท์ พี่สาวโจทก์เบิกความว่าจำเลยชอบเที่ยวร้านอาหาร ร้องเพลงตามคาราโอเกะ นายบุญหนา มูลสาร เบิกความว่าจำเลยออกเที่ยวเตร่ดื่มสุราและเคยเห็นจำเลยไปเที่ยวกลางคืนกับชายอื่น นายบุญพวง ช่างคำเบิกความว่า เห็นจำเลยไปกับชายคนหนึ่งไปดูที่ดินที่โจทก์กับจำเลยซื้อร่วมกัน เห็นว่า โจทก์เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ เท่านั้น ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ดังกล่าวกลับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยไปเที่ยวเตร่กับเพื่อนผู้ชายและเพื่อนผู้หญิงด้วย จึงเป็นการไปเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานอื่นให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยประพฤติตัวดังที่โจทก์เบิกความเป็นปกติอาจิณ คำเบิกความของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง นางสุดใจพยานโจทก์ที่เบิกความว่าจำเลยมีความประพฤติดังกล่าวก็มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ความประพฤติของจำเลยด้วยตนเอง เป็นแต่เพียงรับฟังคำบอกเล่าจากบุคคลอื่นว่าจำเลยไปเที่ยวนอกบ้านเท่านั้นแม้นางสุดใจจะเบิกความว่า วันหนึ่งเห็นจำเลยออกจากบ้านจึงให้โจทก์ติดตามจำเลยไปและทราบว่าจำเลยไปเที่ยวที่อำเภอกุดชุม แต่โจทก์ก็มิได้เบิกความถึงในข้อนี้หรือมาแจ้งให้นางสุดใจรู้ว่า จำเลยประพฤติตนเสียหายอย่างใดบ้างส่วนคำเบิกความของนายบุญหนาที่ว่า จำเลยเที่ยวเตร่ดื่มสุราในเวลากลางคืนโดยไปเที่ยวกับชายอื่น และคำเบิกความของนายบุญพวงที่ว่าเคยเห็นจำเลยออกไปดูที่ดินที่โจทก์กับจำเลยซื้อร่วมกันกับชายคนหนึ่งนั้น เห็นว่า นายบุญหนาและนายบุญพวงเป็นบุคคลภายนอกมิได้อยู่ใกล้ชิดกับจำเลยตลอดเวลา คำเบิกความของนายบุญหนาก็มิได้ยืนยันว่าจำเลยมีความประพฤติดังกล่าวเป็นปกติวิสัย คงเบิกความเพียงลอย ๆ เท่านั้น แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายบุญหนาตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเคยพบจำเลยที่ร้านอาหารที่มีนักร้องร้องเพลง ร้านดังกล่าวหญิงชายสามารถเข้าไปได้ไม่จำกัด และคนในหมู่บ้านไปรับประทานอาหารที่ร้านดังกล่าว แสดงว่าร้านอาหารที่นายบุญหนาพบจำเลยเป็นสถานที่ขายอาหารตามปกติธรรมดาทั่วไป แม้จะมีนักร้องร้องเพลงด้วยก็เป็นเพียงการให้ความบันเทิงแก่ผู้มารับประทานอาหารเท่านั้นมิใช่สถานที่ลี้ลับหรือไม่สมควรที่จำเลยจะเข้าไปนั่งรับประทานอาหารเพราะบุคคลทั่วไปแม้แต่คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านก็ยังไปรับประทานอาหารที่ร้านดังกล่าว ดังนั้นที่นายบุญหนาพบเห็นจำเลยที่ร้านอาหารจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป และที่นายบุญหนาเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เห็นจำเลยเที่ยวเวลากลางคืนกับชายอื่น ก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่า จำเลยประพฤติตนเช่นนั้นเป็นปกติวิสัยหรือไม่ ชายที่จำเลยไปด้วยมีความสัมพันธ์กับจำเลยเกินกว่าปกติธรรมดาหรือไม่ และจำเลยไปกับชายดังกล่าวเพียงลำพังสองต่อสองหรือไม่ คำเบิกความของนายบุญหนาจึงเป็นคำเบิกความที่คลุมเครือไม่แจ้งชัด สำหรับคำเบิกความของนายบุญพวงที่เห็นจำเลยกับชายคนหนึ่งไปดูที่ดินที่โจทก์กับจำเลยซื้อไว้ก็ยังไม่พอรับฟังว่าจำเลยมีความประพฤติเสียหายเพราะการที่จำเลยไปดูที่ดินกับชายดังกล่าว นายบุญพวงก็ไม่ทราบว่าจำเลยมีจุดประสงค์อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องติดต่อกันทางธุรกิจก็เป็นได้พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่พอรับฟังว่าจำเลยประพฤติชั่ว อันจะเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516(2)ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัญหาวินิจฉัยในประเด็นสุดท้ายว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีหรือไม่นั้น โจทก์เบิกความว่า โจทก์กับจำเลยปลูกบ้านเลขที่ 246 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตย กิ่งอำเภอไทยเจริญจังหวัดยโสธร บนที่ดินของมารดาจำเลยเป็นที่อยู่อาศัยเมื่อปี 2534โจทก์กับจำเลยทะเลาะกัน จำเลยพาบุตรทั้งสองคนหลบหนีโจทก์ติดตามหาตัวจำเลยและบุตรไม่พบ ต่อมาจึงทราบว่าจำเลยพาบุตรไปอยู่ที่บ้านมารดาจำเลยที่บ้านเลขที่ 88 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตยกิ่งอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร และในปี 2536 โจทก์ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยปฏิเสธไม่ยอมตามไปอยู่กับโจทก์โจทก์จึงพาเด็กหญิงนัยนันท์ไปอยู่ด้วย และให้บุตรชายคนโตอยู่กับจำเลย จำเลยเบิกความว่า บ้านที่โจทก์กับจำเลยปลูกอยู่อาศัยเลขที่ 88 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตย กิ่งอำเภอไทยเจริญจังหวัดยโสธร ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2จำเลยทะเลาะกับโจทก์จึงพาบุตรไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน โจทก์ขอย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษโดยมิได้บอกกล่าวจำเลย และไม่ยอมชวนจำเลยไปอยู่ด้วยจำเลยเคยพยายามติดตามจะไปอยู่กับโจทก์ประมาณ 10 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยไม่มีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ เห็นว่า ก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภริยากันนั้น โจทก์กับจำเลยเป็นราษฎรในหมู่บ้านเดียวกันดังนั้นโจทก์และจำเลยย่อมจะทราบความเป็นมาตลอดจนบ้านบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายดีว่ามีบ้านช่องอยู่แหล่งที่ใด โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านเลขที่ 246 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตยกิ่งอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เป็นบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกบนที่ดินของมารดาจำเลยอยู่ใกล้บ้านมารดาโจทก์และบ้านบิดามารดาของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าบ้านที่โจทก์และจำเลยปลูกอยู่อาศัยร่วมกัน คือ บ้านเลขที่ 88 หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตยกิ่งอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ตามที่จำเลยนำสืบมิใช่บ้านเลขที่ 246 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างข้างต้น และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์อีกต่อไปว่า บ้านบิดามารดาของจำเลยก็อยู่ใกล้เคียงกันห่างกันประมาณ 10 ถึง 20 เมตรเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะไม่ทราบว่า จำเลยกับบุตรทั้งสองอยู่ที่บ้านบิดามารดาของจำเลยมาตลอด และข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยหลบหนีไปที่อื่น ทั้งจำเลยก็ยืนยันว่ายังคงอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 88 ข้างต้นมาตลอดจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาละทิ้งร้างโจทก์ กลับได้ความตามที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นฝ่ายขอย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษตามความประสงค์ของโจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบส่วนจำเลยก็ยังคงอยู่ที่บ้านที่เป็นของโจทก์และจำเลยปลูกสร้างตามเดิม ซึ่งจำเลยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยตามไปอยู่ด้วยข้อที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยเป็นฝ่ายปฏิเสธไม่ยอมไป และจำเลยขอเลิกจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์เองที่ว่า เมื่อโจทก์ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษแล้ว โจทก์เป็นฝ่ายขอจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแต่จำเลยปฏิเสธ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปี โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516(4) เช่นกัน เมื่อได้ความดังกล่าวคดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียวตามฎีกาของโจทก์ต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2542

 การที่จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์ฉันสามีภริยาที่ต่างประเทศ เนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการทำหนังสืออนุญาต เข้าประเทศ (วีซ่า) แก่จำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์กลับมา รับราชการภายในประเทศไทย โจทก์เป็นฝ่ายแยกไปอยู่ต่างหาก กับน้องสาวของโจทก์เอง ถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข ตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) แต่อย่างใดไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2509 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยระหว่างอยู่กินด้วยกัน จำเลยมักหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์และประพฤติตนไม่เหมาะสมในฐานะภริยาของโจทก์ซึ่งรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ทำให้โจทก์ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ จนกระทั่งกลางปี 2535 โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันจึงสมัครใจแยกกันอยู่จนถึงปัจจุบัน โจทก์ประสงค์จดทะเบียนหย่าแต่จำเลยไม่ยินยอมขอพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การว่า ระหว่างโจทก์จำเลยอยู่กินร่วมกันจำเลยไม่เคยหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์ ไม่เคยประพฤติไม่เหมาะสมอันจะนำความเสื่อมเสียมาสู่โจทก์ ไม่เคยทำให้โจทก์ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาและไม่เคยสมัครใจแยกกันอยู่ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปีอันเป็นเหตุหย่าหรือไม่ คดีได้ความว่า เมื่อปี 2509 โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน โจทก์รับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนจำเลยรับราชการที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โจทก์และนางดารา ติ่งสูงเนิน พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวโจทก์เบิกความเป็นสำคัญว่านับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข จำเลยไม่สนใจในภาษาอังกฤษทั้ง ๆ ที่โจทก์พยายามส่งเสริมสนับสนุน เป็นเหตุขัดข้องต่อการออกงานสังคมร่วมกันในต่างประเทศ จำเลยชอบแนะนำบุตรสาวให้รู้จักกับผู้ชายที่มีฐานะทางสังคมเป็นที่ยุ่งยากใจแก่โจทก์ทั้งโจทก์เบิกความด้วยว่า ต่อจากนั้นโจทก์จำเลยคงขัดแย้งมีปากเสียงกันมาตลอดถึงกับตกลงจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ในที่สุดจำเลยกลับไม่จดทะเบียนหย่าให้ โจทก์จึงย้ายไปพักอาศัยอยู่กับนางดาราน้องสาวโจทก์ เมื่อครั้งที่โจทก์เดินทางไปรับราชการที่สาธารณรัฐโปแลนด์และรัฐคูเวต จำเลยก็มิได้ติดตามไปอยู่ด้วยเพราะสมัครใจแยกกันอยู่ ส่วนจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยประพฤติให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง แม้โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันแต่ก็คงอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาตามปกติมาตลอด ที่โจทก์ไปอยู่กับนางดาราน้องสาวโจทก์เป็นเพราะความสมัครใจของโจทก์เองส่วนที่จำเลยไม่ได้ติดตามไปอยู่กับโจทก์ที่สาธารณรัฐโปแลนด์และรัฐคูเวต เพราะโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการขอวีซ่าของจำเลยจำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ทั้งจำเลยเบิกความด้วยว่าโจทก์เคยเสนอเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนสูงถึง 1,500,000 บาทเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่จำเลยไม่ตกลงด้วยเพราะประสงค์จะอยู่กินกับโจทก์ต่อไป เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์ฉันสามีภริยาที่ต่างประเทศเนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการทำหนังสืออนุญาตเข้าประเทศ(วีซ่า) แก่จำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์กลับมารับราชการภายในประเทศไทยโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปอยู่ต่างหากกับน้องสาวของโจทก์เองถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) แต่อย่างใดไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2543

 เหตุฟ้องหย่าอันที่มิใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 นั้นโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควรหรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา(4/2) ส่วนเหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น หากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปดังที่ได้กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกัน และไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม

แม้จะถูกฟ้องหย่าหลายครั้ง จำเลยก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหย่าโจทก์หรือมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากโจทก์แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองชู้สาวกับชายอื่นหรือนอกใจโจทก์ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีพฤติกรรมอันส่อแสดงว่านอกใจจำเลยและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จึงเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยต้องทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบิดาและมารดาของหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน ตลอดจนฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นด้วย การที่จำเลยต้องกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในหนังสือร้องเรียนและเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงนั้นแม้ถ้อยคำบางคำอาจเกินเลยและรุนแรงไปบ้างก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวด้วยความหึงหวงในตัวสามีอันเป็นธรรมชาติของภริยาโดยทั่วไป ทั้งเป็นการกล่าวโดยสุจริต โดยชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงอันต้องด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) อีกทั้งพฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิใช่กรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516(4/2) แต่เป็นกรณีโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปเองโดยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เมื่อจำเลยมิได้ประสงค์จะหย่าขาดจากโจทก์โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ศาลชั้นต้นพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์และจำเลยใหม่แล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2505 มีบุตร 1 คนโจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องรวม 2 คดี ได้แก่

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2523 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาแยกกับโจทก์หรือละทิ้งโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายหาทางแยกกับจำเลย เพราะจำเลยนำสืบได้ว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนางสาวปิยะพรรณและส่งเสียให้นางสาวปิยะพรรณไปศึกษาในต่างประเทศ และโจทก์จะทำการสมรสกับนางสาวปิยะพรรณ

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2538 วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ประพฤติชั่วและมิได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง

ส่วนจำเลยได้ฟ้องนางดารัตน์ วิภาตะกลัศ เรียกค่าทดแทนเนื่องจากนางดารัตน์แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ในคดีนี้ตั้งแต่ปี 2523 โดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2539 ให้นางดารัตน์ชำระเงิน200,000 บาท แก่จำเลยในคดีนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทอ้างว่าจำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางดารัตน์ โดยเจตนาใส่ความโจทก์หลายเรื่อง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของโจทก์ตามคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 2085/2539 นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าจำเลยกล่าวข้อความเป็นเท็จใส่ความโจทก์ต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า โจทก์จบดอกเตอร์เพราะจำเลยส่งเสีย พอจบกลับมาไล่เตะลูกเมีย ทิ้งลูกเมียไปหาเมียใหม่ เมียคนแรกถูกหลอกเกือบหมดตัว พอคนที่สองก็ถูกหลอกเกลี้ยงตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 500บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี โจทก์จึงนำข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมาฟ้องหย่าจำเลยเป็นครั้งที่สาม ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ค. 18/2536

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า3 ปี หรือไม่ เห็นว่า เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจแยกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. เหตุฟ้องหย่า ที่มิใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงต้องกล่าวอ้างว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด ดังที่ปรากฏในมาตรา 1516 นอกจากมาตรา 1516(4/2)

2. เหตุฟ้องหย่า ที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายดังที่ปรากฏในมาตรา 1516(4/2)

ทั้งนี้ เหตุฟ้องหย่าอันเนื่องจากกรณีที่ 1 นั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควร หรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา (4/2)ส่วนเหตุฟ้องหย่าอันเกี่ยวจากกรณีที่ 2 ก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นหากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปดังที่ได้กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกันและไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม

เมื่อต้นเหตุแห่งการฟ้องหย่าในคดีนี้ เกิดจากความพยายามของโจทก์ที่ต้องการหย่าขาดจากจำเลยตลอดมานับตั้งแต่โจทก์เรียนจบปริญญาเอกกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์ก็มิอาจที่จะหย่าขาดจากจำเลยได้ เพราะศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องถึง 2 ครั้งนอกจากนี้ ยังฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท และนำข้อเท็จจริงจากคดีดังกล่าวมาฟ้องหย่าจำเลยด้วย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอีก เห็นได้ว่า แม้จะถูกฟ้องหย่าหลายครั้งหลายครารวมทั้งในคดีนี้ก็ต้องย้อนกลับมาที่ศาลฎีกาถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหย่าโจทก์หรือมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากโจทก์แต่อย่างใดรวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองชู้สาวกับชายอื่นหรือนอกใจโจทก์ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีพฤติกรรมอันส่อแสดงว่านอกใจจำเลยและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2523 และในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2539 จึงเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยต้องทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบิดาและมารดาของหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน ตลอดจนฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นด้วย การที่จำเลยต้องกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในหนังสือร้องเรียน และเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องข้อ 2.1 และ 2.2 ว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงนั้น แม้ถ้อยคำบางคำอาจเกินเลยและรุนแรงไปบ้างก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวด้วยความหึงหวงในตัวสามี อันเป็นธรรมชาติของภริยาโดยทั่วไป ทั้งเป็นการกล่าวโดยสุจริต โดยชอบธรรม เพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม จึงมิใช่เป็นกรณีหมิ่นประมาท จริงอยู่สำนักราชเลขาธิการมิใช่เป็นหน่วยงานที่จำเลยพึงร้องเรียนโดยตรง แต่มีเหตุที่อาจทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่า สมควรที่จะต้องร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักราชเลขาธิการด้วย เพราะเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดของจังหวัดว่ามีความเหมาะสมเพียงใดหรือไม่ที่จะให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดของจังหวัดนั้น

กล่าวโดยสรุป ข้อเท็จจริงตามหนังสือชี้แจงและคำเบิกความของจำเลยในทุกประเด็นตามข้อ 2.1 และ 2.2 ที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เพราะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังนั้น เห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันต้องด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) นอกจากนี้พฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิใช่กรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516(4/2)แต่เป็นกรณีโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปเองโดยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาเมื่อจำเลยมิได้ประสงค์จะหย่าขาดจากโจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ ทั้งน่าจะเป็นบทเรียนให้โจทก์จำเลยได้คิดใคร่ครวญและทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ว่า โจทก์จำเลยได้ร่วมในชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้มาเนิ่นนานเกินควรแล้ว สมควรที่จะได้ยุติความบาดหมางทั้งสิ้นทั้งปวงเพื่อบุตรที่โจทก์จำเลยมีอยู่เพียงคนเดียวซึ่งต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างบิดามารดา ทั้งที่บุตรมิได้ร่วมก่อขึ้นเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2544

 บำเหน็จตกทอดของ ป. ผู้ตายมิใช่มรดก และกฎหมายมิได้บังคับให้กรมบัญชีกลางจำเลยต้องจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทันทีที่ ป. ตาย แต่จะต้องจ่ายเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียทวงถาม โจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของ ป. ต่อจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของ ป.โดยโจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับ ป. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า หย่ากับ ป. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมในปี 2516 แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนหย่า เช่นนี้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่าย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้องต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายประกาย กล่อมสุวรรณจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517 นายประกายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์และนายประเดิม กล่อมสุวรรณ บุตรของนายประกายเป็นผู้จัดการมรดก ก่อนที่นายประกายจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ นายประกายเคยจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 แต่ได้ฟ้องหย่าจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดกระบี่ ศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้หย่ากันเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2517 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำร้องขอรับบำเหน็จตกทอดจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า นายประกายมีภริยา 2 คน คือจำเลยที่ 2 และโจทก์ เพราะศาลพิพากษาตามยอมให้นายประกาย และจำเลยที่ 2 หย่ากัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ ยังไม่ได้ทำการเพิกถอนทะเบียนสมรส ประกอบกับจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านการที่โจทก์ขอรับบำเหน็จตกทอดด้วยทำให้โจทก์ไม่ได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน284,452 บาท จากจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 284,452 บาท พร้อมดอกเบี้ยกรณีพิเศษอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 223,100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายประกายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2ไว้ก่อนแล้ว และยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างโจทก์และนายประกายเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอ้างทะเบียนสมรสที่จดไว้กับนายประกายเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการทางศาล หากศาลพิพากษาว่าผู้ใดเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประกายและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายก็จะจ่ายเงินให้ผู้นั้น เมื่อโจทก์ไม่มีคำพิพากษาที่พิพากษาว่าโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายประกายและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของนายประกายมาแสดง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จ่ายบำเหน็จตกทอดจำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดและไม่ต้องรับผิด สำหรับดอกเบี้ย หากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยก็รับผิดในอัตราร้อยละ 7.4 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายประกายและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลจังหวัดกระบี่ว่าตกลงหย่าขาดจากกัน เมื่อออกจากศาลแล้วจะไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอเมืองกระบี่ ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แต่นายประกายไม่ไปจดทะเบียนหย่าตามที่ตกลงไว้ การสมรสยังสมบูรณ์อยู่ ที่โจทก์และนายประกายจดทะเบียนสมรสภายหลังจึงเป็นการสมรสซ้อนเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายบำเหน็จตกทอดไม่ใช่ทรัพย์มรดกการที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ผู้ใดต้องพิจารณาสิทธิของบุคคลที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 บันทึกสละสิทธิในทรัพย์มรดกของนายประกายซึ่งจำเลยที่ 2 ทำขึ้นเป็นคนละส่วนกับบำเหน็จตกทอด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 223,100 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการเดียวว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องชอบแล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการ มิได้เป็นลูกหนี้โจทก์และในวันฟ้องจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ใด ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งยังโต้แย้งกันอยู่ จำเลยที่ 1 ควรจะต้องจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์โดยตรง แต่หากจำเลยที่ 1 มีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดของนายประกายผู้ตายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ต้องถือว่าเป็นหนี้เงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระหว่างเวลาผิดนัด บำเหน็จตกทอดดังกล่าวนี้มิใช่มรดก และกฎหมายมิได้บังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทันทีที่นายประกายถึงแก่ความตาย แต่จะต้องจ่ายเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียทวงถาม ปรากฏว่าโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของนายประกายต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 และจำเลยที่ 2 ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดเข้ามาอีกคนหนึ่งในวันที่ 9 เมษายน 2539 ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของนายประกาย โจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับนายประกายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517 ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า หย่ากับนายประกายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12/2516 ของศาลจังหวัดกระบี่ แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนหย่า ที่นายประกอบจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2เป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น เห็นว่าเมื่อมีการทวงถามเช่นนี้จำเลยที่ 1ในฐานะที่เป็นส่วนราชการผู้รับผิดชอบการจ่ายบำเหน็จตกทอด มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะในเมื่อกรณีอย่างจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการหย่าโดยคำพิพากษาตามยอมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาตามยอมถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง แม้ว่าศาลจะมิได้มีคำบังคับให้คู่กรณีไปจดทะเบียนหย่า ถ้าฝ่ายใดไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาก็ตาม ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียนและขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้เท่านั้น คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก การที่โจทก์ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดแล้วจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายตั้งแต่ก่อนวันฟ้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

พิพากษายืน

การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2545

 เหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกันและอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเดียวกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไปได้แต่เป็นเพราะโจทก์โกรธจำเลยเพราะเข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับมารดาโจทก์ฉ้อโกงเอาบ้านและที่นาของโจทก์ไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนหน้าเกิดเหตุโจทก์และจำเลยแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจอยู่กินในลักษณะดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยพาบุตรคนโตไปกรุงเทพมหานครเพื่อค้าขายเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการแยกตัวไปทำมาหากินเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)(6)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน เมื่อปี 2537 ขณะโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 947/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โจทก์และจำเลยทะเลาะกันเกี่ยวกับจำเลยลอบนำสินส่วนตัวของโจทก์ไปจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลภายนอก โจทก์จึงขอแยกกันอยู่กับจำเลยโดยยังพักอยู่บ้านเดียวกันเพราะเห็นแก่บุตรทั้งสอง ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2540 จำเลยหนีออกจากบ้านโดยไม่ติดต่อกลับมาหาโจทก์ ไม่ส่งเสียให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดต้องได้รับความเดือดร้อน เมื่อเอาสภาพและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบทั้งเป็นการทิ้งร้างโจทก์เกินกว่า 1 ปี จำเลยไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จึงไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตรขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้ถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยโต้แย้งกับโจทก์เพราะจำเลยไม่ยอมช่วยโจทก์จัดการโอนที่ดินที่ตั้งร้านค้าที่โจทก์โอนให้บุตรทั้งสองของโจทก์จำเลยกลับมาเป็นของโจทก์อีก จำเลยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 100,000 บาทเพื่อให้โจทก์ทำทุนค้าขาย แต่โจทก์หาทางขจัดจำเลยโดยส่งจำเลยไปค้าขายที่อื่น จำเลยต้องประกอบอาชีพตามความประสงค์ของโจทก์โดยนำบุตรคนโตไปอยู่ด้วย ทำให้โจทก์ไม่พอใจทำร้ายบุตรคนโต จำเลยจึงต้องอุปการะเลี้ยงดูเสียเอง นอกจากนี้จำเลยส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรของคนที่สองตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย โดยให้โจทก์ผู้เดียวเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ นายไพฑูรย์ ศรีรุณ อายุ 18 ปี และเด็กชายคณิต ศรีรุณ อายุ 15 ปี พักอาศัยรวมกันที่บ้านเลขที่ 947/1หมู่ที่ 1 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2540 จำเลยนำนายไพฑูรย์ออกจากบ้านดังกล่าวไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี และไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ ในข้อที่ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หรือไม่นั้นพยานโจทก์มีตัวโจทก์และเด็กชายคณิตเบิกความทำนองเดียวกันว่าตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นไปโจทก์กับจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันมาตลอดทั้งนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์เข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับนางจำลอง ดาราวงศ์หรือแปรสนม มารดาโจทก์ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 947และที่นา 5 แปลงของโจทก์แล้วโอนขายไปโดยจำเลยลงชื่อเป็นพยานในหลักฐานดังกล่าว โจทก์กับจำเลยแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็ต่างคนต่างอยู่ไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำเลยก็ไม่เคยช่วยเหลือโดยต่างคนต่างทำมาหากินซึ่งเป็นเช่นนี้จนถึงเดือนมีนาคม 2540จำเลยก็ออกจากบ้านไปโดยนำนายไพฑูรย์บุตรคนโตไปด้วยบอกว่าจะไปอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ตัวโจทก์กลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ปัญหาที่โจทก์ขอหย่ากับจำเลยครั้งนี้ เนื่องจากจำเลยไปร่วมมือกับมารดาโจทก์ในการโอนที่ดินของโจทก์และจำเลยไม่ให้ความกระจ่างแก่โจทก์ ก่อนจำเลยจะไปกรุงเทพมหานคร จำเลยก็ค้าขายอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวตามปกติ หลังจากจำเลยออกจากบ้านในปี 2540 แล้วก็กลับมาอีก 2 ครั้ง และเด็กชายคณิตเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าปัจจุบันจำเลยไปค้าขายเสื้อผ้าที่กรุงเทพมหานครและพี่ชายของพยานได้ช่วยขายด้วย พยานยังรักใคร่และผูกพันกับจำเลยเช่นเดิม ตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าการที่โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันและอยู่ด้วยกันที่บ้านเดียวกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากว่าโจทก์และจำเลยไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติทั่วไปได้แต่เป็นเพราะโจทก์โกรธเคืองจำเลยเพราะเข้าใจว่าจำเลยร่วมมือกับนางจำลองมารดาโจทก์ฉ้อโกงเอาบ้านและที่นาของโจทก์ไป ได้ความว่าขณะที่จำเลยยังอยู่ที่บ้านเลขที่ 947/1 ร่วมกับโจทก์และบุตรทั้งสองคนจำเลยก็ค้าขายอยู่ที่บ้านดังกล่าว เพียงแต่ต่างคนต่างอยู่เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจที่อยู่กินในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น การที่จำเลยพาบุตรคนโตไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อค้าขายเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการแยกตัวไปเพื่อทำมาหากินเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปหรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)(6)..."

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545

 หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 (ที่ถูก 19) สิงหาคม 2526 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย อายุ 14 ปี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 จำเลยได้พาบุตรผู้เยาว์ไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานาน 10 ปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ประพฤติตัวตามที่โจทก์อ้างแต่ครอบครัวโจทก์ยุยงให้โจทก์ละทิ้งจำเลยไป และโจทก์ได้ละทิ้งจำเลยและบุตรผู้เยาว์เหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น และต้องการทำการสมรสกับหญิงอื่น ก่อนคดีนี้โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยที่ศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องไป โจทก์ละทิ้งจำเลยและบุตรไป ปล่อยให้จำเลยเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตั้งแต่อายุ 2 ปีเศษโดยที่โจทก์ไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ให้แก่จำเลยในอัตราเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 600,000 บาท และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ให้แก่จำเลยต่อไปในอัตราเดียวกันจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ กับให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายละทิ้งโจทก์ไปและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของภริยาจำเลยจึงต้องรับภาระเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยและให้โจทก์ชำระในอัตราเดือนละ 2,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ 5 มกราคม 2541) จนกว่านางสาวนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ กับให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนางสาวนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย ผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์จำเลยได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันที่บ้านมารดาโจทก์โดยโจทก์ใช้เป็นร้านซ่อมไดนาโม โจทก์จำเลยอาศัยอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ได้ประมาณ 2 ปี จำเลยมีเรื่องทะเลาะกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 จำเลยจึงพาบุตรออกจากบ้านมารดาโจทก์ไปเช่าบ้านอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ซอย 28 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครโจทก์ตามไปพักกับจำเลยที่บ้านดังกล่าวได้ประมาณ 3 เดือน ก็มีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกันเป็นประจำ โจทก์จึงกลับมาอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ ระหว่างที่จำเลยพักอยู่ที่บ้านถนนเพชรเกษม ซอย 28 โจทก์เคยให้นางอนงค์ ไตรธรรม นำเงินไปให้จำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับ ต่อมาจำเลยได้ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปประมาณ5 ถึง 6 ห้อง หลังจากนั้นจำเลยได้ย้ายไปพักอยู่ที่ถนนเจริญนคร 14 ห่างจากบ้านโจทก์ประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ เห็นว่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านมารดาโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้เป็นร้านซ่อมไดนาโมด้วยที่บ้านดังกล่าวมีมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์อาศัยอยู่ด้วย จำเลยเป็นบุตรสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้านมารดาโจทก์เชื่อว่าจำเลยได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับญาติพี่น้องทางฝ่ายโจทก์ในฐานะเป็นผู้เข้ามาอยู่ใหม่ แต่มารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์กับจำเลยก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำให้จำเลยกับบุตรต้องออกไปอาศัยอยู่ที่บ้านถนนเพชรเกษม ซอย 28 โจทก์ได้ตามไปพักอาศัยอยู่ด้วยเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ต่อมาโจทก์ได้กลับไปอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์อีก โดยไม่ยอมกลับไปอยู่อาศัยกับจำเลยอีก ฉะนั้น การที่จำเลยย้ายออกจากบ้านมารดาโจทก์ไปอยู่ที่บ้านที่ถนนเพชรเกษม ซอย 28 น่าจะเป็นเพราะจำเลยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์จนจำเลยไม่อาจทนสภาพเช่นนั้นได้ต่อไปต้องพาบุตรไปหาที่อยู่ใหม่ แต่โจทก์ก็ยังคงตามไปอยู่กับจำเลยและบุตร กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ แต่เป็นการที่จำเลยต้องออกจากบ้านมารดาโจทก์ เพราะมีสาเหตุกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์นั่นเอง ส่วนการที่โจทก์อยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน โจทก์ก็กลับออกมาอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์โดยโจทก์อ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านซึ่งก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยา ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลย ต่อมาจำเลยเองกลับย้ายมาเช่าบ้านพักอาศัยอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปประมาณ 5 ถึง 6 ห้อง ซึ่งจำเลยก็เบิกความว่าเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มาแสดงว่าจำเลยยังหวังว่าโจทก์จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิม หลังจากบ้านที่จำเลยอยู่อาศัยหมดสัญญาเช่า จำเลยก็ย้ายที่อยู่ใหม่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากบ้านมารดาโจทก์ประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แม้จำเลยกับบุตรจะมาอยู่อาศัยใกล้บ้านพักมารดาโจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาจำเลยหรือชักชวนจำเลยกับบุตรไปอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ดังเดิมหรือหาที่อยู่ใหม่ อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้วพฤติการณ์ของโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยเป็นฝ่ายละทิ้งร้างโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์หรือไม่ เพียงใด โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยไม่ยอมรับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จากโจทก์ถือว่าจำเลยสละสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์หากบิดามารดาไม่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นได้ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาบุตรผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ได้เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป โจทก์กล่าวในฎีกาว่าโจทก์ยินดีที่จะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเดือนละ 2,000 บาท ได้ความว่านับแต่จำเลยกับบุตรผู้เยาว์ออกมาจากบ้านมารดาโจทก์เมื่อปี 2528 จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์ตลอดมา ขณะฟ้องคดีบุตรผู้เยาว์อายุ 14 ปี จำเลยยังเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ตลอดมาดังเดิม จำเลยเป็นผู้ให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์โดยในชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยให้บุตรผู้เยาว์เข้าเรียนที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ค่าเล่าเรียนปีละประมาณ 20,000 บาท ปัจจุบันบุตรผู้เยาว์ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศึกษานารีซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาล โจทก์ไม่เคยช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูตลอดมาเป็นเวลา 12 ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนประมาณ 240,000 บาท นอกจากจำเลยจะต้องรับภาระค่าศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์แล้ว จำเลยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่นอกเหนือจากค่าศึกษาเล่าเรียนอีกด้วย ซึ่งโจทก์ไม่เคยส่งเสียค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าศึกษาเล่าเรียนให้แก่บุตรผู้เยาว์เลย จะมีบ้างก็เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ภาระดังกล่าวตกแก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว เงินจำนวน 60,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าฝากไว้ให้บุตรผู้เยาว์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือบุตรผู้เยาว์มีสิทธิถอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ จำเลยให้การศึกษาและอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนเดียวตลอดมาจนผู้เยาว์เติบใหญ่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ 300,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือนนั้น โจทก์ยินดีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แม้โจทก์จะอ้างว่ามีรายได้เดือนละ 7,000 บาท แต่หากนำมาใช้จ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรผู้เยาว์เดือนละ 2,500 บาท ก็ไม่เป็นภาระแก่โจทก์มากนักที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เดือนละ 2,500 บาท นับว่าเป็นจำนวนใกล้เคียงกับความประสงค์และความสามารถของโจทก์ผู้ให้แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546

 ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร1 คน พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ เมื่อประมาณปี 2541 หลังจากที่โจทก์ไปทำงานรับจ้างที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยประพฤติชั่ว ทำตนเสเพล เที่ยวกลางคืนดื่มสุราเป็นอาจิณ หาเรื่องทะเลาะวิวาท ตลอดจนดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ดุด่าบิดามารดาของโจทก์อย่างร้ายแรง ไม่ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว บิดาของโจทก์จึงไล่จำเลยออกจากบ้าน ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยหรือบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 1 คน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3) หรือไม่ คดีนี้โจทก์มีนายทองอยู่หรือทองภู หอมมาลัย บิดาโจทก์ นางบุญชู พันธ์โพงา และเด็กหญิง จ.บุตรผู้เยาว์ เป็นพยานเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่า โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์อาศัยอยู่กับนายทองอยู่บิดาโจทก์ เมื่อปี 2535 จำเลยไปทำงานที่ประเทศบรูไนและประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการ 1 ข้าง นายจ้างจึงส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทยต่อมาปี 2541 โจทก์จะเดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันจึงได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่ที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวไม่ดูแลบุตรผู้เยาว์ ดื่มสุราเมาอาละวาดขู่จะฆ่าบิดาโจทก์จนบิดาโจทก์ต้องไล่จำเลยออกไปจากบ้าน จำเลยจึงกลับไปอยู่กับบิดามารดาจำเลย จนกระทั่งกลางปี 2544โจทก์เดินทางกลับประเทศไทยและขอหย่ากับจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมหย่า เห็นว่าในส่วนความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาของโจทก์จำเลยนั้น โจทก์เบิกความยืนยันว่านับตั้งแต่โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมา จำเลยไม่เคยมีความประพฤติเสียหายใด ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นไปโดยปกติ ไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันอีกทั้งในช่วงที่จำเลยไปทำงานที่ประเทศบรูไน จำเลยก็ส่งเงินมาให้โจทก์ใช้จ่ายในครอบครัวตลอดมา จำเลยเพิ่งจะมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์เดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ซึ่งเด็กหญิง จ. บุตรผู้เยาว์และนายทองอยู่บิดาโจทก์ ก็เบิกความสอดคล้องกับโจทก์ว่าก่อนหน้าที่โจทก์จะไปทำงานที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยไม่เคยมีความประพฤติเมาสุราอาละวาดทั้งมีความเคารพเชื่อฟังบิดาโจทก์ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงบ่งชัดว่า โดยลักษณะนิสัยตามปกติของจำเลยแล้วจำเลยไม่มีความประพฤติเสียหาย แต่ที่พฤติกรรมของจำเลยได้แปรเปลี่ยนไปหลังจากโจทก์เดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันนั้น ก็คงต้องมีสาเหตุปัจจัยสำคัญอันเกิดจากการที่เกรงว่าโจทก์จะมีสามีใหม่มากกว่า ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่า ขณะที่โจทก์อยู่ดินแดนไต้หวันโจทก์เคยส่งจดหมายตามเอกสารหมาย ล.1 มายังจำเลยโดยโจทก์บอกว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้ว ซึ่งโจทก์น่าจะตระหนักได้ดีว่าจดหมายดังกล่าวต้องเพิ่มความทุกข์ให้แก่จำเลยเป็นทวีคูณ เพราะเมื่อโจทก์เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศซึ่งต้องห่างไกลกันย่อมทำให้จำเลยเกิดความว้าเหว่คิดถึงโจทก์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปจากการทำงาน จึงไม่สามารถหาการงานทำเป็นกิจจะลักษณะได้อีก เชื่อได้ว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น การกระทำของโจทก์ที่บอกจำเลยว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วนั้นไม่ว่าด้วยเจตนาหรือความตั้งใจใดก็ตาม โจทก์ควรมีมโนธรรมว่าโจทก์กับจำเลยเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เมื่อจำเลยต้องประสบเคราะห์กรรมดวงตาพิการจนไม่สามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อน โจทก์ควรสงสารให้ความเห็นอกเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจของจำเลยเช่นนี้ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวระหว่างโจทก์และจำเลยมาจากสาเหตุที่เกิดจากโจทก์อันทำให้จำเลยต้องดื่มสุรา แม้บางครั้งจำเลยจะดื่มมากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยก็เนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ ทั้งจำเลยก็ยินยอมที่จะแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์แล้ว ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้อันเนื่องมาจากความพิการของจำเลยก็ดี หรือดื่มสุราเพื่อดับความกลัดกลุ้มจากสภาพความแตกแยกของครอบครัวก็ดี และก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้ได้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคงให้โจทก์จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 ณ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงกนกพรรณ เพชรไทย และเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย เมื่อประมาณต้นปี 2536 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักและสนิทสนมในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ขอให้จำเลยที่ 2 เลิกยุ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อต้นปี 2541 โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจเป็นสามีภริยากันอย่างเปิดเผย โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ณ สำนักทะเบียนอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างที่โจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดาพึงกระทำจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร แต่ไปอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ โจทก์ไม่สามารถที่จะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้บุตรผู้เยาว์คือเด็กหญิงกนกพรรณและเด็กชายธนรัชต์ เพชรไทย อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาและพักอาศัยร่วมกันที่บ้านบิดาและมารดาของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ถูกดูถูกเหยียดหยาม แสดงความรังเกียจจากบิดามารดาของโจทก์ตลอดเวลา และบิดามารดาของโจทก์บีบบังคับให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดจำนวน 30,000 บาท มาให้เพื่อทำรั้วบ้าน จำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มามอบให้ เมื่อทำรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้วบิดามารดาของโจทก์ขับไล่ให้จำเลยที่ 1 ไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 อาศัยร่วมด้วย จำเลยที่ 1 ต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักราชการของผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 1 มีบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์มาอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ยอมมา ต่อมาในปี 2532 จำเลยที่ 1 ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1 ได้ชวนให้โจทก์ย้ายไปอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่โจทก์ไม่ยอมไป โดยโจทก์มีเจตนาจะแยกจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษเพียงลำพังตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มรู้จักกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อต่อรองให้โจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมมาและบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากจะมีภริยาใหม่ โจทก์ก็ไม่ขัดข้อง แต่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินมาให้โจทก์จำนวน30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไปนำเงินสดมาจากจำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์จำนวน 30,000บาท ตามที่ตกลงกัน จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ด้วยการรู้เห็นยินยอมของโจทก์มาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า โจทก์บ่ายเบี่ยงโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดมาให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท ก่อนจึงจะยอมปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงไปกู้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 32,000 บาทและมอบให้แก่โจทก์ ในปี 2536 โจทก์นัดหมายจะไปจดทะเบียนหย่าแต่เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ก็ไม่ไป โจทก์ได้มาขนทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านของจำเลยที่ 1 จนไม่มีทรัพย์สินเครื่องใช้เหลืออยู่เลย ต่อมาในปี 2539 โจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านของมารดาจำเลยที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ อ้างว่าวันรุ่งขึ้นจะไปจดทะเบียนหย่าให้กับจำเลยที่ 1 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ยอมมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองให้แก่โจทก์ไปแต่โจทก์ไม่ยอมไปตามนัด โจทก์หลอกลวงเรียกร้องเงินสดและทรัพย์สินจำนวนมากจากจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง และรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 อยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดามาตลอด แม้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะแยกกันอยู่ จนกระทั่งเมื่อโจทก์ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 จึงระงับการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาทนั้น เป็นเงินที่สูงเกินไป โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว หากจะนับเวลาตั้งแต่ปี2536 มาจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน ในชั้นมัธยมศึกษาคนละ3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษาคนละ 4,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันพิพากษาไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าบุตรทั้งสองมีอายุครบ 20ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย โดยที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เคยแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ 2แต่โจทก์บอกกับจำเลยที่ 1 ว่าจะมีภริยาใหม่โจทก์ไม่ขัดข้อง หากจำเลยที่ 2 นำเงินมาให้โจทก์ 30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงมอบเงินของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์จำนวน 30,000 บาทจำเลยที่ 1 เคยนำรูปของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดู โจทก์ก็เฉยและบอกว่าอยากมีก็มีไป ขอให้ได้รับเงินเดือนทุกเดือนนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ถามค้านโจทก์ถึงข้ออ้างดังกล่าว ทั้งหากโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันแล้วจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ในการพิจารณาเลื่อนชั้นระดับของจำเลยที่ 2 ส่วนการที่โจทก์เห็นภาพถ่ายงานพิธีมงคลสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือดำเนินการทางศาลนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองนั้นโจทก์ไม่ทราบ แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะจัดพิธีมงคลสมรสกัน แม้ต่อมาโจทก์เห็นภาพถ่ายดังกล่าวในภายหลังแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจัดพิธีมงคลสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสองเพียงใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้แก่ทางราชการอยู่ ควรรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีภาระต้องชำระหนี้ของทางราชการแล้วก็ยินยอมรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท ต่อไปนั้นเห็นว่า ตามใบแจ้งการหักเงินเดือนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือน 14,325 บาท ถูกหักค่าสหกรณ์จำนวน 7,004.63 บาท และหักอย่างอื่นอีก คงเหลือเงินเดือนที่ได้รับ 6,630.37 บาท แม้จะยังเหลือหนี้เงินต้นอยู่อีก103,800 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีเงินค่าหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเงิน 63,050 บาท ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่ามิได้จ่ายเงินช่วยเหลือโจทก์และบุตรทั้งสองมาตั้งแต่ต้นปี 2541 ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงรายได้และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษานั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 2,500บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่สองต่อไปเดือนละ 4,000 บาท จนกว่าบุตรคนที่สองจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

การจดทะเบียนหย่า

การสิ้นสุดการสมรสมี 3 วิธี คือ

    - ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย-การจดทะเบียนหย่า-ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส

การหย่าทำได้ 2 วิธี ดังนี้

    1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายกระทำได้ 2 วิธี คือ การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน และการจดทะเบียนหย่า

      ต่างสำนักทะเบียน

    2. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล




การสิ้นสุดแห่งการสมรส

ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร article
สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ article
สัญญาระหว่างสมรสให้ทรัพย์สินของสามีตกเป็นของภริยาห้ามบอกล้าง article
ขอเพิกถอนทะเบียนสมรสซ้อน สมรสซ้อนโดยไม่สุจริต
ทะเบียนสมรส ลงชื่อฝ่ายชายคนเดียว, เพิกถอนการรับบุตรบุญธรรม
ฟ้องหย่าอ้างเหตุสมัครใจแยกกันอยู่
ทำร้ายร่างกายถ้าเป็นการร้ายแรงฟ้องหย่าได้, ศาลปรับหนึ่งพันไม่เป็นการร้ายแรง
เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน, การทำร้ายคู่สมรส
เหตุฟ้องหย่า เหตุที่ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ มีอะไรบ้าง
ความสมบูรณ์ของการสมรส, ฟ้องให้การสมรสเป็นโมฆะ
ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี ไม่ฟ้องหย่า
รู้ว่าสามีไปมีหญิงอื่นเกินหนึ่งปีก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้,อายุความ
การจดทะเบียนหย่าด้วยการแสดงเจตนาลวง
จงใจละทิ้งร้างไปเกินหนึ่งปี
สามีฟ้องหย่า,จงใจละทิ้งร้าง,เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา
ฟ้องหย่าได้ที่ศาลใด
จดทะเบียนสมรสโดยต่างไม่ได้ยินยอมเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริง
สามีโจทก์เข้าออกบ้านของจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง
คำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวด้วยดอกผลของสินสมรส
การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีผลต่อเมื่อเวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด
สามีบังคับภริยาให้ยอมร่วมประเวณีโดยใช้มีดขู่ฆ่าอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
หลักเกณฑ์การใช้สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพหลังการหย่า
สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์หมดไปโจทก์ให้ความยินยอมและรู้เห็นเป็นใจ
ความหมายว่า"ค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าจะสมรสใหม่และจนกว่าการสมรสสิ้นสุดลง"
ฟ้องหย่าคดีอยู่ระหว่างฎีกาฟ้องคดีใหม่เป็นฟ้องซ้อน
ฟ้องหย่าอ้างสิทธิที่จะเลือกคู่ครองตามรัฐธรรมนูญ
สำนักงานการปฏิรูปฯ (ส.ป.ก.)ขอออกโฉนดโดยมิชอบ
พักโรงแรมห้องเดียวกับสามี ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้โดยไม่ต้องฟ้องหย่า
โจทก์ไม่ทราบแน่ชัดเรื่องชู้สาวจึงไม่เป็นการยินยอมและให้อภัยของโจทก์
การจงใจทิ้งร้างไปเกินกว่า 1 ปีต้องในลักษณะที่ไม่หวนกลับไปหาคู่สมรสอีก
จดทะเบียนหย่าแล้วก็ฟ้องเรียกค่าทดแทนชู้สาวได้
ขับไล่โจทก์ออกจากบ้านเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง
สามีภริยาจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้างแต่ต้องเกิดจากความยินยอม
ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์
สมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปี เหตุฟ้องหย่า
สมัครใจแยกกันอยู่, จงใจละทิ้งร้าง, เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา
ฟ้องหย่าขอแบ่งสินสมรส การจัดการสินสมรสที่เป็นเงินตรา(เงินสด)
การหย่าโดยความยินยอมต้องทำอย่างไร?, หนังสือหย่า
การฟ้องและเรียกค่าทดแทนคดีครอบครัว โทร0859604258
สิทธิฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูอันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี
เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลัง
เรียกค่าทดแทนจากสามีและหญิงอื่น(เมียน้อย), ยกย่องผู้อื่นฉันภริยา
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ สิทธิเรียกร้องกำหนดอายุความ 5 ปี
การหย่าโดยความยินยอม, บันทึกเป็นหนังสือประสงค์หย่าขาด
สมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี ต้องเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขด้วย
นำตำรวจจับกุมภริยา หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง
จงใจละทิ้งร้างภริยาไปเกินหนึ่งปีฟ้องหย่าได้, สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
สิทธิฟ้องหย่าระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีเว้นแต่เหตุฟ้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ, อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเป็นภริยา
แยกกันอยู่เพราะสามีรับราชการที่อื่น, ไม่ถือว่าเป็นการแยกกันอยู่โดยความสมัครใจ
ทะเลาะกันและทำร้ายร่างกายยังไม่เป็นเหตุฟ้องหย่า
แยกกันอยู่เพราะสามียกย่องหญิงอื่น, เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง
ฟ้องหย่าจงใจละทิ้งร้างเรียกสินสอดทองหมั้นคืน
สามีหรือภริยาประพฤติชั่วอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
รู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่าจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นไม่ได้
พี่น้องของผู้ตายขอเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสซ้อนไม่ได้
อำนาจฟ้องขอเพิกถอนการสมรสเพราะสำคัญผิดตัว
ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้
ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก-ได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปี ฟ้องหย่าได้
สิทธิฟ้องหย่าระงับเมื่ออีกฝ่ายให้อภัยแล้ว
สมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปีฟ้องหย่าได้
สิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแล้วแต่พฤติการณ์
แยกกันอยู่เกินสามปีต้องเพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข
ไม่อาจร่วมประเวณีได้ ต้องการฟ้องหย่า
แยกกันอยู่หรือจงใจละทิ้งร้าง? -อยู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีลักษณะแบบต่างคนต่างอยู่
กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง
สิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนชู้สาวนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผย
เหตุแห่งการฟ้องหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงขอให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพได้
พฤติการณ์อย่างไรเรียกว่ายกย่องเมียน้อยฉันภริยา
ฟ้องซ้ำ ค่าอุปการะเลี้ยงดู หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนด
การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง
การแบ่งสินสมรสและกรรมสิทธิ์รวม
หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามสามีหรือบุพการี